จัด Home – Based Learning อย่างไร ให้ตอบคอนเซ็ปต์ของโรงเรียน

จัด Home – Based Learning อย่างไร ให้ตอบคอนเซ็ปต์ของโรงเรียน

จัด Home – Based Learning ที่ต้องทำให้เป็นการเรียนรู้แบบ Active Learning ว่ายากแล้ว ยังจะต้องเป็นไปตามคอนเซ็ปต์หรือแนวคิดที่โรงเรียนวางไว้ด้วยหรือ?

คุณครูอาจจะคิดว่า …โจทย์หลายชั้นจัง จะไหวเหรอ!

ก่อนคุณครูจะท้อใจ มาดูตัวอย่างจากโรงเรียนที่ทำได้อย่างโรงเรียนทอสี

โรงเรียนทอสีนับได้ว่าเป็นโรงเรียนหนึ่งที่มีแนวคิดที่ลึกซึ้ง เป็นโรงเรียนวิถีพุทธใช้แนวทางพุทธปัญญาในการพัฒนาเด็กและเน้นการพัฒนาทักษะชีวิต โดยหลักสำคัญคือสอนเด็กให้เข้าใจชีวิต รู้จักชีวิตตัวเอง มีการเรียนรู้ที่เอาเรื่องชีวิตเป็นตัวตั้ง พัฒนาเด็กให้มีทักษะชีวิตที่ทำให้เด็ก “กิน อยู่ ดู ฟัง” เป็นสื่อสารเป็น สุขเป็น คิดเป็นเพื่อให้เด็กเติบโตงอกงามทั้งภายนอกและภายใน สามารถรับมือกับโลกที่จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่สามารถคาดเดาได้ 

จากแนวคิดสู่แนวทาง2 นอก 2ใน

พัฒนา 2 นอก คือพัฒนาเรื่องความสัมพันธ์ ระหว่างตนเองกับปัจจัย 4 เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ให้ “กิน อยู่ ดู ฟังเป็น” พัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับเพื่อนมนุษย์ คือเรื่องการสื่อสาร การทำงานร่วมกัน การทำงานเป็นทีม การอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข

พัฒนา 2 ใน คือพัฒนาจิตใจและปัญญา โดยมองเรื่องจิตใจอย่างเป็นองค์รวม ทั้งสมรรถภาพจิต (ความเข้มแข็งทางจิตใจ ความมุ่งมั่นอดทน สุขง่าย ไม่เปราะบางต่อสิ่งเร้า) คุณภาพจิต (คุณธรรมประจำใจ) และสุขภาพจิต (เบิกบาน ร่าเริง สดใส) ส่วนปัญญาเป็นเรื่องของการคิดวิเคราะห์ แยกแยะ เชื่อมโยง

การเรียนของโรงเรียนทอสีใช้หน่วยการเรียนรู้บูรณาการเป็นแกนในการเรียนรู้ เทอมละ 1 หน่วย แล้วแตกเป็นกิจกรรมหรือหน่วยการเรียนรู้ย่อย อย่างเช่น อนุบาล 2 เรียนเรื่อง “ถอดรหัสสายใยชีวิต” ในเทอม 1 หลักๆ เด็กๆ จะได้เรียนรู้เรื่องวงจรชีวิตธรรมชาติ คน พืช สัตว์ เชื่อมโยงกันอย่างไร แล้วแตกย่อยไปเรียนเรื่องพืช ชนิดของพืช แต่เนื่องจากโรงเรียนไม่ได้ต้องการให้เด็กเรียนแค่วิชาที่เด็กต้องเรียน ยังสอดแทรกด้วยพุทธธรรม สอนให้เด็กมีเมตตากับสัตว์กับพืช การอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข แล้วเชื่อมโยงกลับมาที่ตัวเด็ก ถามเด็กว่าถ้าให้เด็กเป็นพืชเขาเป็นพืชชนิดใด ฝึกให้เด็กเชื่อมโยงกลับมาที่ตัวเองเสมอ เพื่อให้เด็กเห็นว่าธรรมชาติหรือสิ่งที่เรียนรู้มีความสำคัญอย่างไรต่อตัวเขา เป็นการเรียนรู้ทั้งภายนอกและภายใน เด็กจะได้เรียนรู้ว่าเขาจะอยู่กับคนอื่นอย่างไร อยู่อย่างเกื้อกูลหรืออยู่อย่างทำลายผู้อื่น  และได้เรียนรู้ว่า กับเพื่อนที่เป็นพืชชนิดอื่นซึ่งมีความแตกต่าง จะมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างไร

หรือเด็กประถม 1 มีหน่วยการเรียนรู้เรื่อง “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” เรียนรู้เรื่องการรับผิดชอบตัวเอง รู้ว่าต้องทำอะไรเวลาใด จัดตารางสอนจัดกระเป๋าเอง ดูแลอุปกรณ์ด้วยตัวเอง เมื่อเด็กรับผิดชอบตัวเองได้ดี เขาจะรู้สึกภูมิใจในความเป็นเด็กประถมที่โตขึ้น พอเทอมสอง เด็กมีหน่วยการเรียนเรื่อง “หนี้ศักดิ์สิทธิ์” ให้เด็กเรียนรู้ว่าใครบ้างที่มีส่วนร่วมในการเติบโตของเขา มีความสัมพันธ์กับชีวิตของเขาในชีวิตที่ผ่านมา เกื้อหนุน สนับสนุนเขาให้เติบโตแข็งแรง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะพ่อแม่ เด็กบางคนยังนึกไปถึงคุณตาคุณยาย พี่เลี้ยง เป็นต้น

เมื่อมาจัด Home – Based Learning โรงเรียนทอสีเรียกว่า Thawsi Home – Based Learning มีคำจำกัดความว่า คือการใช้บ้านเป็นฐานการเรียนรู้ร่วมกับโรงเรียนตามกรอบหลักสูตรและแนวทางของโรงเรียน  หมายความว่า  ไม่ว่าสถานการณ์ใด โรงเรียนทอสีนอกจากจะจัดให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งที่ควรจะรู้ในวัยนั้นๆ ตามกรอบหลักสูตรแล้ว ยังต้องจัดการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์แนวคิดของโรงเรียนด้วย

ดังนั้น ในการคิดออกแบบกิจกรรมเรียนรู้ให้เด็กทุกๆ กิจกรรม คุณครูจึงเอาแนวคิดของโรงเรียนเป็นตัวตั้งด้วย ซึ่งก็คือการพัฒนาให้เด็กเติบโตทั้งภายนอกภายในโดยสอดแทรกพุทธธรรมลงไปในเนื้อหากิจกรรม ในขั้นตอนการทำกิจกรรม ไปจนถึงในการประเมิน

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน ลองดูตัวอย่างกิจกรรม HBL ของโรงเรียนทอสีต่อไปนี้

ตัวอย่างกิจกรรมHBL “สุขเป็น ก็เป็นสุข”

อนุบาล 3 เรียนเรื่องปัจจัย 4 หน่วยบูรณาการ “สุขเป็น ก็เป็นสุข” เรียนในเทอม 1 เริ่มด้วยครูให้เด็กทำตุ๊กตากระดาษและชุดเสื้อผ้าตุ๊กตา ซึ่งเด็กๆ ได้สนุกกับการระบายสี ตัดตุ๊กตา ใส่เสื้อผ้าตุ๊กตา บางคนชวนคุณพ่อคุณแม่เล่นด้วย บางคนทำชุดทำตุ๊กตาเพิ่ม หรือทำบ้านตุ๊กตา เป็นต้น เป็นกิจกรรมที่เด็กๆ ทำด้วยตัวเองอย่างเพลิดเพลิน

จากกิจกรรมนี้ สัปดาห์ถัดไป คุณครูให้เด็กสำรวจตู้เสื้อผ้าของตัวเองที่บ้าน มีเสื้อกี่ตัว กางเกงกี่ตัว กระโปรงกี่ตัว รองเท้ากี่คู่ โดยคุณครูมีตารางให้เด็กๆ นับ และให้เด็กวิเคราะห์ว่าตัวใดไม่ค่อยได้ใส่ อาจจะใส่แค่ครั้งเดียวแล้วไม่ได้ใส่อีกเลย ตัวใดใส่บ่อย ให้พ่อแม่ชวนคุยว่าทำไมใส่บ่อย ซื้อมาเมื่อไร เป็นต้น  ถ้าชิ้นใดไม่ได้ใช้ เช่น คับแล้ว จะทำอย่างไรกันดี  และนำไปสู่ว่าเรามีของเยอะเกินไปไหม เราควรซื้อเมื่อไรดี ซึ่งอาจจะเชื่อมโยงไปถึงของเล่นด้วย เป็นการให้เด็กรู้จักคิดไตร่ตรองก่อนจะซื้อของ ซึ่งจะเป็นฐานคิดที่ติดตัวเด็กไปจนโต

เห็นได้ว่า กิจกรรมแบบนี้ได้ครบทั้งเป็น Active Learning ทั้งตอบโจทย์คอนเซ็ปต์ในการพัฒนาเด็กที่โรงเรียนตั้งไว้ เด็กได้ฝึกคิดวิเคราะห์ ได้รับการปลูกฝังให้มีทักษะชีวิตที่ “กิน อยู่เป็น คิดเป็น” และมีการเชื่อมโยงกลับมาที่ตัวเด็ก แถมเด็กๆ ยังได้เรียนรู้อย่างสนุก มีความสุขกับการเรียนรู้ด้วย

เป็นกิจกรรม HBL ที่ตอบโจทย์หลายชั้น เชื่อว่าเมื่อได้เห็นตัวอย่างนี้ คุณครูทุกคนต้องคิดได้ไม่ยากเลย!


เรียนรู้ Online สไตล์ละอออุทิศ

โรงเรียนสาธิตละอออุทิศ เรียกได้ว่าเป็นโรงเรียนอนุบาลของรัฐแห่งแรกของประเทศไทย ปัจจุบันเป็นโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ในสถานการณ์โควิด โรงเรียนได้วางแนวทางการเรียนรู้ Home – Based Learningเรียกว่า “เรียนรู้ Online สไตล์ละอออุทิศ”

เรียนรู้ Online สไตล์ละอออุทิศเป็นการผสมผสานวิธีการเรียนรู้ หรือ Hybrid Learning System ประกอบด้วย School – Based Learning, Home – Based Learning และ Technology – Based Learning  ซึ่งปกติเด็กเรียนรู้ที่โรงเรียนเป็นหลัก ส่วนอื่นเป็นส่วนเสริมการเรียนรู้ แต่ตอนนี้เป็นการผสมผสานทุกส่วนเพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้

กระบวนการทำงานของโรงเรียนเพื่อดำเนินการจัด HBL เริ่มด้วยการเตรียมความพร้อมทั้งในส่วนโรงเรียน ครู ผู้ปกครอง และเด็ก โดยมีการเตรียมการต่างๆ คือ

จัดเตรียมสถานที่ ผู้บริหารเล็งเห็นความสำคัญ อนุมัติให้จัดทำห้องสำหรับทำการออนไลน์โดยเฉพาะ ซึ่งช่วยให้ครูคลายความกังวลในระดับหนึ่งที่ได้รับการสนับสนุน

เตรียมตัวครูและผู้ปกครอง โรงเรียนทำความเข้าใจกับครูและผู้ปกครอง ให้ทุกฝ่ายรู้ว่าจะต้องทำงานร่วมกันอย่างผสมผสาน ครูมีความรู้ เทคนิค วิธีการ ส่วนพ่อแม่ ผู้ปกครองมีความรักที่จะส่งต่อความรู้จากครูให้กับเด็กๆ

เตรียมช่องทางสื่อสาร ใช้โปรแกรม Microsoft Teams ในการส่งความรู้ให้เด็กๆ เป็นช่องทางที่ครูทำกิจกรรมกับเด็กๆ สื่อสารกับพ่อแม่ และเป็นที่แลกเปลี่ยนผลงานของเด็กๆ มีการจัดอบรมการใช้โปรแกรมให้ครูและผู้ปกครอง

เตรียมเด็ก ให้เด็กๆ ได้ปรับตัวจากการเรียนในห้องเรียนมานั่งเรียนผ่านจอ  โดยระยะแรกครูออนไลน์กับเด็กเพียง 5-10 นาที ครูพูดคุย ชวนเด็กร้อง เล่น เต้นรำ ออกแบบกิจกรรมที่สร้างความเคยชินให้เด็กปรับตัวกับการเรียนรู้ออนไลน์  และมีคลิปให้ความรู้พ่อแม่เรื่องการฝึกหรือสอนลูกในเรื่องทักษะพื้นฐานต่างๆ

การออกแบบกิจกรรมเรียนรู้

ครูคิดกิจกรรมที่สอดคล้องกับหน่วยการเรียน และทำตารางชีวิตประจำวันที่ประกอบไปด้วยกิจกรรมบูรณาการหลัก 5 กิจกรรม (ได้แก่ กิจกรรมนิทานกระบวนการคิด กิจกรรมกลุ่ม กิจกรรมเสรี กิจกรรมกลางแจ้ง กิจกรรมสงบ) โดยหมุนเวียนกันไปในแต่ละสัปดาห์ ให้เด็กค่อยๆ ชินและรู้ว่าเขาจะต้องมีกิจกรรมเรียนรู้ทุกวันเหมือนที่ไปโรงเรียน

การเตรียมตัวและการสร้างความคุ้นเคยเพื่อให้ทุกฝ่ายได้มีเวลาปรับตัว จะช่วยให้การจัด HBL เป็นไปอย่างราบรื่น ช่วยให้ทุกฝ่าย ไม่ว่า ครู พ่อแม่ผู้ปกครอง และเด็กไม่เครียด  เพราะว่า Home – Based Learning เป็นเรื่องใหม่สำหรับทุกคน  การเริ่มต้นที่ดีนี้ในที่สุดจะนำไปสู่การเรียนรู้อย่างมีสุขของเด็กๆ ดังเป้าหมายของโรงเรียนที่เป็นโรงเรียนแห่งความสุขนั่นเอง

ละอออุทิศ Tips

เรียนออนไลน์อย่างไรให้สนุก

เพื่อให้ตอบสนองเป้าหมายของโรงเรียนที่มุ่งเป็น “โรงเรียนแห่งความสุข” เด็กๆ เรียนรู้อย่างมีความสุข ครูจึงเน้นการสร้างปฏิสัมพันธ์กับเด็กผ่านจอ กระตุ้นให้เด็กมี reaction พูดโต้ตอบกับครู แสดงความคิดเห็น ครูพยายามจัดกิจกรรมให้สนุกที่สุดเหมือนเด็กได้เรียนที่โรงเรียน ให้เด็กได้คิดได้ลงมือทำ ครูสร้างเงื่อนไข แรงบันดาลใจให้เด็กได้คิดต่อหรือไปทำต่อด้วยตัวเอง หรือทำกับผู้ปกครอง

ถ้าเด็กไม่พร้อมออนไลน์จะทำอย่างไร

ครูจัดทำสื่อการเรียนรู้สำหรับเด็กที่ไม่พร้อมเรียนรู้ที่หน้าจอพร้อมกับเพื่อนๆ หรือพ่อแม่ไม่ว่างดูแลให้ลูกออนไลน์ ให้พ่อแม่ไปทำกิจกรรมกับลูกในเวลาที่สะดวก โดยมีคู่มือแนะนำวิธีการให้ผู้ปกครองทำกิจกรรมกับลูก คู่มือนี้มีทั้งที่เป็นสิ่งพิมพ์และมี QR code ให้สแกนเข้าไปดูเนื้อหาเมื่อทำกิจกรรมแล้ว ผู้ปกครองส่งคลิปการทำกิจกรรมให้คุณครู

อีกช่องทาง Microsoft Teams มีการบันทึกกิจกรรมที่ทำตามตารางเรียนไว้ ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถเข้าไปดูภายหลังแล้วถ่ายทอดกับลูก ทำกิจกรรมกับลูกได้


สื่อสนุก เล่นได้หลากหลาย

ชุดสื่อการเรียนรู้ที่โรงเรียนสาธิตละอออุทิศแห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต จัดส่งให้ผู้ปกครองไปทำกิจกรรมกับลูกครูพยายามออกแบบให้มีความหลากหลายและตอบโจทย์พัฒนาการตามวัยของเด็ก ออกแบบให้สื่อแต่ละชุดเล่นได้หลากหลาย หรือบูรณาการได้ หรือเล่นได้หลายระดับความยากง่าย อย่างเช่น

สื่อการเรียนรู้ สนุกกับลูกปัด

ครูเตรียมอุปกรณ์ ลูกปัด ถ้วย ช้อน ลวดกำมะหยี่ไปให้ เด็กเรียนรู้ทั้งการตักลูกปัด ร้อยลูกปัด แยกสีลูกปัด กิจกรรมนี้เป็นการฝึกกล้ามเนื้อมือมัดเล็ก การใช้มือประสานกับสายตาการใช้ความคิดแยกแยะสี การใช้สมาธิจดจ่อ

มาดูการเล่นของเด็กกับชุดสื่อนี้ที่เล่นได้หลายวิธี มีระดับความยากง่ายต่างกันจากคลิปที่ผู้ปกครองถ่ายลูกขณะทำกิจกรรม

กิจกรรม ร้อยลูกปัด

วันนี้มี 3 ด่าน

เริ่มที่ด่าน… ร้อยแยกสี

สำเร็จค่ะ👏🏻

เพราะน้องปรีมชอบร้อยแบบแยกสีอยู่แล้ว

ด่านต่อไป… ร้อยสลับสี

ก็ได้อยู่น้าาา👌🏻 สำหรับร้อยสลับสี

แม่ต้องเตือนๆ บ้างแต่ก็ได้อยู่ค่ะ

มาถึงด่านต่อไป

…ร้อยตาม Pattern…

จะรอดไหมมม🙈

ด่าน 3 ไม่รอด แต่คุณแม่บอกว่า “ไม่เป็นไร ไว้มาเล่นกันใหม่” คุณแม่ทำให้เป็นเรื่องสนุก ไม่ได้เคี่ยวเข็ญให้ทำให้ได้ เพราะเข้าใจว่าทำไปเรื่อยๆ ทักษะจะเพิ่มขึ้นเองตามพัฒนาการ

กิจกรรมนี้ใช้สื่อชุดเดียว แต่วิธีการเล่นเปลี่ยนได้หลายแบบ จากแยกสีลูกปัด เปลี่ยนมาร้อยลูกปัด ร้อยตามสี ร้อยสลับสี ร้อยตามแบบ แต่ละวิธีการเล่นมีความง่าย-ยากต่างกัน ทำให้เด็กไม่เบื่อ 


เรียบเรียง : ผาณิต บุญมาก
บรรณาธิการ : ภาวนา อร่ามฤทธิ์
สถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป)