ชุดการเรียนรู้… Delivery ความรู้จากโรงเรียนถึงบ้าน

ชุดการเรียนรู้… Delivery ความรู้จากโรงเรียนถึงบ้าน

ในช่วงวิกฤตสถานการณ์โควิดระลอกแรก รัฐบาลสั่งล็อกดาวน์ Home – Based Learning ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับทุกคน ทั้งผู้บริหารและครูโรงเรียนอนุบาลสร้างสรรค์รู้สึกตกใจกับสถานการณ์นี้  แต่เมื่อผู้บริหารโรงเรียนได้ทำความเข้าใจกับครูว่า ไม่ใช่แต่ครูและโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบ ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือตัวเด็ก จึงคิดหาทางว่าจะทำอะไรเพื่อให้เด็กไม่หยุดเรียนรู้ได้บ้าง

ทางโรงเรียนได้สำรวจต้นทุนในโรงเรียนพบว่ามีของเล่นและสื่อการสอนจำนวนมาก ซึ่งในขณะนี้ไม่ได้ใช้ประโยชน์  จึงเกิดความคิดว่าอาหารยังมี Delivery โรงเรียนก็น่าจะ Delivery ความรู้ได้เหมือนกัน จึงประชุมครูและบุคลากรในโรงเรียนเพื่อจัดทำชุดการเรียนรู้แล้วส่งไปให้เด็กๆ ที่บ้าน

ทุกสัปดาห์เด็กแต่ละคนจะได้รับชุดการเรียนรู้ใหม่ที่ไม่ซ้ำเดิม ในชุดการเรียนรู้ 1 ชุด ประกอบด้วย เครื่องเขียน สีไม้ สีเทียน สีชอล์ก สีน้ำ สีแป้ง ดินสอ ยางลบ หนังสือนิทาน 5 เล่ม (ที่ไม่ซ้ำกับครั้งก่อน) เพื่อให้พ่อแม่เล่านิทานให้ลูกฟังก่อนนอนทุกวัน ซึ่งเวลาเรียนปกติเด็กจะได้ฟังนิทานที่โรงเรียนทุกวัน อนุบาล 3 ได้นิทานเล่มใหญ่ที่มีหลายเรื่องในเล่ม นอกจากนั้นก็มีหุ่นนิ้ว หุ่นมือ เกมการศึกษา เกมเสริมพัฒนาการ และตุ๊กตาซึ่งเหมือนเป็นตัวแทนครูที่จะทำให้เด็กรู้สึกอบอุ่น รวมทั้งใบงานปรับให้ยืดหยุ่นตามบริบทของบ้าน  สำหรับงานศิลปะ งานประดิษฐ์ซึ่งเป็นงานที่เด็กชื่นชอบมาก โรงเรียนจัดให้ค่อนข้างสำเร็จรูป เพื่อลดภาระพ่อแม่

เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส ครู พี่เลี้ยง แม่ครัวมีบทบาทสำคัญ

เมื่อทุกคนเข้าใจตรงกันว่า “จะต้องทำให้เด็กของเราเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง  เพราะว่าพัฒนาการของเด็กรอไม่ได้ ทุกวินาทีมีความสำคัญ”  จึงเกิดความร่วมแรงร่วมใจ โดยเฉพาะเมื่อโรงเรียนเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วม ไม่จำเป็นว่าครูเท่านั้นที่จะทำสื่อได้ แม้แต่พี่เลี้ยงและแม่ครัวก็มีบทบาทสำคัญ ช่วยกันทำสื่อ ช่วยกันเสนอไอเดียและทำพร็อบประกอบฉากเล่านิทานในคลิปสั้น ฯลฯ  นอกจากทำให้ทุกคนเกิดความรู้สึกผูกพัน ทุ่มเทกับสิ่งที่ทำแล้ว ยังได้เห็นศักยภาพในตัวบุคลากรมากมาย ใครทำอะไรไม่เป็นก็ฝึกกัน

ชุดตัวละครในนิทานเป็นไอเดียและฝีมือของพี่เลี้ยงกับแม่ครัว

แบ่งปันชุดการเรียนรู้ให้โรงเรียนอื่นๆ

จากความร่วมแรงร่วมใจของทุกคนทุกฝ่ายในโรงเรียน โรงเรียนได้ผลิตชุดการเรียนรู้จำนวนมาก บางวันผลิตสื่อถึง 500 ชิ้น นอกจากผลิตเพื่อเด็กนักเรียนของตนเองแล้ว โรงเรียนอนุบาลสร้างสรรค์ยังใจดีผลิตแจกจ่ายให้โรงเรียนเพื่อนๆ ด้วย เพื่อให้ทันใช้งานในสถานการณ์นี้  เพราะการทำสื่อหากเป็นครูรุ่นใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์ก็จะใช้เวลามาก เนื่องจากยังขาดประสบการณ์ในการทำสื่อที่มีขั้นตอนมากและขาดทักษะที่จะเลือกสื่อให้เหมาะสมกับเด็กในระดับวัยต่างๆ แม้ว่าครูจะสามารถหาเกมการศึกษาและใบงานมีอยู่ในอินเทอร์เน็ตมากมายก็ตาม  นอกจากผลิตสื่อเผื่อโรงเรียนอื่นๆ หรือทำเป็นไฟล์ให้ไปพรินต์ใช้กันแล้ว  ยังเปิดโอกาสให้โรงเรียนอื่นๆ มาเรียนรู้วิธีการทำสื่อด้วย 

กระบวนการผลิตสื่อและชุดการเรียนรู้ของโรงเรียนอนุบาลสร้างสรรค์เป็นที่สนใจของผู้ปกครอง แนะนำรายการทีวีให้มาถ่ายทำเผยแพร่  

อาจารย์ปวีณา พลวิทย์ (ครูกบ) ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลสร้างสรรค์ให้คำแนะนำว่า “ในสถานการณ์วิกฤตอย่างนี้ หากยังคิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไร ให้เริ่มด้วยการตั้งสติถามตัวเองว่า เราจะมีวิธีให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้อย่างไร สำรวจต้นทุนรอบตัว ทั้งในโรงเรียนและที่บ้านของเด็ก ชุมชนใกล้ตัวเด็กว่ามีอุปกรณ์ วัสดุ วัตถุดิบอะไรบ้างที่สามารถนำมาเป็นสื่อการเรียนรู้ได้ และหาเครือข่าย เพื่อนต่างโรงเรียนเพื่อช่วยเหลือ ร่วมกันทำงาน ซึ่งอนุบาลสร้างสรรค์ยินดีแบ่งปันช่วยเหลือค่ะ”

Facebook โรงเรียนอนุบาลสร้างสรรค์


โรงเรียน – บ้าน เกื้อกูลประคับประคองกันในยามวิกฤต

การทำงานร่วมกันระหว่างบ้านและโรงเรียนนับว่าเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการจัด Home – Based Learning โรงเรียนวิถีธรรมแห่งมหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร จังหวัดสกลนคร ก็มีแนวคิดเช่นนี้  ในขณะพ่อแม่ผู้ปกครอง (รวมทั้งปู่ย่าตายาย) ทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้ของเด็ก  โรงเรียนและครูก็ทำหน้าที่เป็นผู้สร้างกระบวนการเรียนรู้ตามเป้าหมายที่วางไว้  ที่มากกว่านั้นยังทำหน้าที่ประคับประคองพ่อแม่ทั้งเรื่องจิตใจและวิธีการ เช่นให้เทคนิคคุณพ่อคุณแม่ไปใช้กับลูกๆ อย่างเต็มที่เหมือนที่ครูใช้ที่โรงเรียน

หน้าที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของครูคือสื่อสารกับพ่อแม่ ผู้ปกครองอย่างใกล้ชิดในลักษณะ “ถึงจะห่างตัว แต่ไม่ห่างใจ” เป็นการทำงานแบบวิถีธรรม หมายถึงเกื้อกูลประคับประคองกันในยามวิกฤต  

ครูทำหน้าที่เป็น FA (Facilitator – ผู้อำนวยการเรียนรู้) ที่คอยถ่ายทอดสื่อสารกับพ่อแม่อย่างต่อเนื่อง ไม่ทิ้งกัน ไม่ทำให้พ่อแม่รู้สึกว่าโรงเรียนผลักภาระให้พ่อแม่ คอยสนับสนุน ช่วยเหลือ เกื้อกูล โดยมีห้องเรียนของครูและพ่อแม่เป็นที่พบปะ แลกเปลี่ยนกัน สะท้อนการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน รวมทั้งครูสื่อสารให้พ่อแม่ ผู้ปกครองได้เห็นบทบาทหน้าที่ของครู ให้เห็นว่าแม้ครูไม่ได้อยู่กับเด็กๆ ครูก็มีความบากบั่นในการปฏิบัติหน้าที่อย่างใกล้ชิด

อาจารย์ศริญตา ศรีชาติ(ครูแอ๋ว) รักษาการครูใหญ่โรงเรียนวิถีธรรมฯ กล่าวว่า “การสื่อสารกันจะเป็นหนทางแก้ปัญหาทุกอย่าง ต้องหาช่องทางในการพบปะพูดคุยกัน รับฟัง Feedback จากพ่อแม่ว่าคิดเห็นอย่างไร  และเมื่อไรที่เกิดปัญหา ก็สื่อสารกันอย่างใกล้ชิด  อุปสรรคปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการจัด HBL ควรมองว่าเป็นโจทย์ท้าทายให้หาทางแก้ไข” 

ดังนั้น โรงเรียนวิถีธรรมฯ จึงเน้นทำงานร่วมกับพ่อแม่ ผู้ปกครองอย่างหลากหลายวิธี มีการสื่อสารที่น่าสนใจหลายรูปแบบ พูดคุย มีห้องเรียนครูและพ่อแม่ มีการสรุปการเรียนรู้ประจำสัปดาห์ และมีการรับฟัง feedback ทั้งด้วยการพูดคุยและในรูปแบบของแบบสอบถาม ซึ่งหากโรงเรียนใดสนใจโรงเรียนวิถีธรรมฯยินดีแบ่งปัน ดังตัวอย่างนี้

สรุปการเรียนรู้ประจำสัปดาห์

เพื่อให้ผู้ปกครองได้เห็นความสำคัญของกิจกรรมที่คุณครูส่งมาให้เด็กทำในแต่ละสัปดาห์ และได้ทราบว่าลูกๆ ได้พัฒนาอะไรบ้าง  คุณครูจึงจัดทำสรุปการเรียนรู้ประจำสัปดาห์ส่งไปใน Note ของไลน์กลุ่ม เป็นการให้ความรู้พ่อแม่ไปด้วยในตัว คุณพ่อคุณแม่จะได้เห็นความสำคัญของกิจกรรมต่างๆ ที่โรงเรียนจัดให้ และอยากพัฒนาลูกไปพร้อมกับทางโรงเรียน

แบบสอบถามความพึงพอใจของผู้ปกครอง

โรงเรียนทำแบบสอบถามความพึงพอใจของผู้ปกครองในการจัด Home – Based Learning ของโรงเรียน ผ่าน Google Form ให้พ่อแม่ผู้ปกครองสะท้อนความคิดเห็น อุปสรรคปัญหา เพื่อโรงเรียนจะได้นำมาปรับปรุงแก้ไข เพื่อเป็นประโยชน์ต่อเด็กๆ ต่อไป

โรงเรียนวิถีธรรมฯ ยังยินดีแบ่งปันคลิปกิจกรรมสนุกๆ เช่น คลิปนิทาน นิทานหุ่นมือ นิทานตั้งโต๊ะ คลิปการทำแป้งโด คลิปขั้นตอนการล้างมือ คลิปเพลงแปรงฟัน ฯลฯ ให้ผู้สนใจนำไปใช้เพื่อการเรียนรู้ของเด็ก

ช่องทางการติดตามโรงเรียนวิถีธรรมแห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร
Youtube
Facebook


เรียบเรียง : ผาณิต บุญมาก
บรรณาธิการ : ภาวนา อร่ามฤทธิ์
สถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป)