ผู้ปกครองไม่เห็นด้วยกับ Home – Based Learning โรงเรียนจะทำอย่างไรดี

ผู้ปกครองไม่เห็นด้วยกับ Home – Based Learning โรงเรียนจะทำอย่างไรดี

ท่ามกลางสถานการณ์โควิด การจัดการเรียนรู้แบบ HBL ในระยะแรกเริ่มไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะเป็นเรื่องใหม่สำหรับทุกคน โดยเฉพาะพ่อแม่ ผู้ปกครองที่มักตั้งคำถามว่า โรงเรียนจะโยนภาระมาให้พ่อแม่หรือเปล่า? เรียนออนไลน์แล้วลูกจะได้อะไร? โรงเรียนพรสิริกุลที่อำเภอเมือง จังหวัดตรัง ก็เผชิญกับข้อกังขาของผู้ปกครองอย่างนี้เช่นกัน

ในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับรายการ “Can Do ครู EF ” ที่จัดโดยสถาบัน RLG ครูแพร หรืออาจารย์เชาวภรณ์ สัมพันธรัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งเป็นทายาทรุ่นใหม่ของตระกูลพรสิริกุล ได้เล่าว่า    เมื่อแรกเริ่มจัดการเรียน HBL โรงเรียนทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้ปกครองว่า สนใจหรือเห็นด้วยหรือไม่กับการเรียนออนไลน์ ปรากฏว่าผลตอบกลับมาเห็นด้วยแค่ 20% ทั้ง ๆ ที่ผู้ปกครองมีความพร้อมในเรื่องอุปกรณ์การเรียนถึง 80% หมายความว่าผู้ปกครองไม่มีความลำบากทางด้านเศรษฐานะ แต่ไม่เห็นด้วยกับการจัดให้ลูกหลานเรียนรู้ที่บ้าน

เมื่อผลสำรวจเป็นเช่นนี้ ครูแพรจึงคิดหาหนทางว่าทำอย่างไรจะเปลี่ยนความคิดของผู้ปกครองได้ ไม่เช่นนั้นการจัด HBLคงจะไม่ประสบความสำเร็จ จึงร่วมกับคุณครูคิดการจัดการ 3 เรื่องหลักๆ คือ

          1. ครูนอกจากออกแบบกิจกรรมเรียนรู้ให้เหมาะสมตามวัยของเด็กแล้ว จะต้องออกแบบกิจกรรมให้เด็กได้เรียนรู้อย่างมีความสุขและสนุกด้วย 

          2. โรงเรียนและครูจะต้องสื่อสารให้ผู้ปกครองเห็นเจตนาที่ดีของโรงเรียน ที่ต้องการให้เด็กยังคงได้เรียนรู้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่ถดถอยในสถานการณ์โควิด ภายใต้สโลแกนว่า “Stay Safe, Keep Learning”      “เด็กยังคงเรียนรู้พัฒนาอย่างปลอดภัย(จากโควิด)” และสื่อสารให้ผู้ปกครองเข้าใจเรื่องการจัด HBL อย่างเห็นภาพชัดเจน

          3. จะต้องเลือก Platform การสื่อสารที่ง่ายต่อผู้ปกครองจะใช้งาน เพื่อให้ผู้ปกครองเข้าถึงสิ่งที่โรงเรียนสื่อและกิจกรรมที่ครูเตรียมไว้ให้เด็กได้โดยง่าย ช่องทางที่โรงเรียนพรสิริกุลเลือกใช้ได้แก่

          Line open chat ใช้ในการสื่อสารระหว่างครูกับผู้ปกครอง สื่อสารชี้แจงรายละเอียดต่าง ๆ และเป็นช่องทางส่งงานของเด็ก

ZOOM เป็นช่องทางสื่อสารปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็ก เด็กกับเด็ก

          Sway เป็นช่องทางสำหรับโพสต์สื่อการเรียนรู้ กิจกรรมต่าง ๆ ที่ครูเตรียมไว้สำหรับให้พ่อแม่เข้าไปเรียนรู้เพื่อจะได้จัดกิจกรรมกับเด็ก ๆ ได้ รวมทั้งคลิปกิจกรรมจาก ZOOM ที่ผู้ปกครองไม่สามารถพาเด็กเข้าร่วมกิจกรรมตามเวลาที่กำหนดได้

          จากหลักการดังกล่าว ในทางปฏิบัติจึงมีการประชุมครูค่อนข้างบ่อยเพื่อร่วมกันออกแบบกิจกรรม รวมทั้งมีการทำงานกับผู้ปกครองอย่างมาก คือ

          ประชุมผู้ปกครอง เพื่อพยายามสื่อสารสร้างความเข้าใจ ชี้แจงอย่างละเอียดถึงรูปแบบการจัดกิจกรรมเรียนรู้ อุปกรณ์ ชุดการเรียนรู้ที่โรงเรียนจะจัดให้และการสนับสนุนต่าง ๆ ครูแพรได้เน้นว่าการสื่อสารกับผู้ปกครองสำคัญมาก

          จัดทำคู่มือ คู่มือการจัดกิจกรรม แสดงรายละเอียดการจัดกิจกรรมแต่ละวันในสัปดาห์ มีกิจกรรมอะไร ต้องเตรียมวัสดุอุปกรณ์อะไรบ้าง จุดประสงค์ของการจัดกิจกรรมแต่ละกิจกรรม และวิธีวัดผล  คู่มือนี้เกิดจากการรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้ปกครองที่สงสัยว่ากิจกรรมแต่ละอย่างจะพัฒนาลูกในด้านใดอย่างไร  คู่มือยังบอกให้ผู้ปกครองทราบว่า การจัดกิจกรรมไม่ได้หวังผลแค่ปลายทาง แต่เน้นที่กระบวนการที่ทำให้เด็กได้เรียนรู้มากกว่า ทำให้ผู้ปกครองมีความชัดเจนในการจัดกิจกรรมมากขึ้น

          อบรมครูและช่วยเหลือผู้ปกครองเรื่องการใช้เทคโนโลยี โรงเรียนมีการอบรมครูให้ใช้แอพพลิเคชั่นต่างๆ  และให้ความช่วยเหลือผู้ปกครองในเรื่องนี้ด้วย เพราะเป็นเรื่องใหม่ทั้งกับครูและผู้ปกครอง ในตารางกิจกรรมประจำสัปดาห์ มี QR Code ที่สามารถลิงก์ไปยัง Sway หรือคลิปวิดีโอ เพื่อให้สะดวกกับผู้ปกครองเข้าใช้งาน

          ด้วยกระบวนการเหล่านี้ทำให้ผู้ปกครองที่สนใจจัด HBL เพียง 20% เพิ่มเป็น 90% ปัจจุบันโรงเรียนพยายามทำงานกับผู้ปกครองอีกราว 10% ที่ยังไม่มีความพร้อมจัด HBL ให้ลูก ไม่สามารถเข้าร่วมทำกิจกรรมกับลูกตามตารางเวลาที่กำหนดได้ โดยครูใช้เวลาหลังเลิกเรียน 16.30 น.และในวันหยุด จัดกิจกรรมเรียนรู้กับเด็กกลุ่มนี้เพื่อจะได้ไม่มีเด็กคนใดถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

โรงเรียนใดประสบปัญหาเดียวกันนี้ ลองนำวิธีการของโรงเรียนพรสิริกุลไปใช้ดู เชื่อว่าจะทำให้การจัดHBLของโรงเรียนนั้นราบรื่นมากขึ้นอย่างแน่นอน


วิธีเตรียมพ่อแม่และเด็กให้พร้อมกับการเรียน Home – Based Learning

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเรียน Home – Based Learning ประสบความสำเร็จ คือความพร้อมของผู้ปกครองซึ่งหมายถึงผู้ปกครองพร้อมให้ความร่วมมือกับครูและโรงเรียน เปิดใจเรียนรู้วิธีการ หลักการต่างๆ ที่จะนำมาสนับสนุนให้ลูกเกิดการเรียนรู้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะเป็นเช่นนั้น เพราะโดยทั่วไปแล้วคิดกันว่าการเรียนรู้อยู่ที่โรงเรียนเท่านั้น รวมทั้งเมื่อสถานการณ์เปลี่ยน พ่อแม่ยังไม่ตระหนักว่าการศึกษาของลูกก็เปลี่ยนไปด้วย

          ดังนั้น หนึ่งในงานสำคัญของการจัด HBL โรงเรียนจะต้องสร้างความพร้อมให้ผู้ปกครอง และสร้างความคุ้นเคยกับการเรียนรู้ที่บ้านให้เด็ก โรงเรียนอนุบาลพลอยภูมิ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณพุทธมณฑลสาย 3 เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ เป็นโรงเรียนหนึ่งที่มีการเตรียมความพร้อมให้ผู้ปกครองและเด็กได้เป็นอย่างดี ลองมาดูกันว่าโรงเรียนนี้ทำอย่างไรบ้าง

พ่อแม่ ครู และโรงเรียนจับมือเป็นกัลยาณมิตร

อาจารย์สโลพร  ตรีพงษ์พันธ์ หรือครูอ๊อบ ผู้บริหารโรงเรียนได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับสถาบัน RLG ว่า โรงเรียนทำงานร่วมกับผู้ปกครองอย่างมากเพื่อให้ผู้ปกครองมีความพร้อมให้มากที่สุด เป็นกัลยาณมิตรร่วมกันสร้างการเรียนรู้ให้เด็ก โรงเรียนเน้นเรื่องการสื่อสารกับพ่อแม่ด้วยความถี่และหลายรูปแบบดังนี้

          ปฐมนิเทศผู้ปกครองออนไลน์ เริ่มด้วยการพูดคุยกับพ่อแม่ผู้ปกครองให้เกิดการยอมรับว่า          ถ้าสถานการณ์ทำให้โรงเรียนยังไม่สามารถเปิดให้เรียนตามปกติได้ ก็ต้องจัด Home – Based Learning ทั้งนี้เพื่อพัฒนาการและการเรียนรู้ของลูกจะไม่ถดถอย และโรงเรียนจะทำงานร่วมกับผู้ปกครองอย่างไร

          จัดห้องเรียนพ่อแม่ออนไลน์ เป็นระยะ ๆ เพื่อเป็นการ Empower พ่อแม่ ให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องการเรียนรู้ของเด็ก เพราะพ่อแม่ต้องเป็นคนดูแลช่วยเหลือลูกในการเรียนรู้ 

          ครูประจำชั้นประชุมกับพ่อแม่เป็นรายบุคคล อย่างต่ำเดือนละ 1 ครั้ง ให้พ่อแม่ได้ Feedback เรื่องลูกกับครู

          ล้อมวงครูกับพ่อแม่ เดือนละครั้ง โดยฝ่ายวิชาการ ครูล้อมวงคุยกับพ่อแม่เป็นรายห้อง เพื่อให้เกิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพราะไม่ได้คิดว่าทุกอย่างต้องออกมาจากครูฝ่ายเดียว ควรจะให้พ่อแม่ได้เข้ามาร่วมเป็นองค์กรเรียนรู้ร่วมกัน แลกเปลี่ยนวิธีการ ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน

          บริการให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคล หากพ่อแม่ต้องการพบผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง โรงเรียนจะจัดให้ เช่น ครูนักพัฒนาการ

รักษาจังหวะชีวิตของเด็ก

การรักษาจังหวะชีวิตของเด็กให้มีความสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญมาก เมื่อเด็กไม่ได้มาโรงเรียน จังหวะชีวิตของเด็กเปลี่ยนไป เมื่อจัด HBL จึงจำเป็นต้องให้เด็กมีวิถีชีวิตที่สม่ำเสมอ แต่ไม่จำเป็นต้องเหมือนวิถีกิจวัตรที่มาโรงเรียน เพราะวิถีชีวิตของแต่ละบ้านไม่เหมือนกัน และโรงเรียนก็เคารพในวิถีชีวิตของแต่ละคน การจัดทำตารางกิจวัตรของเด็กจึงต้องมีความยืดหยุ่น

          โรงเรียนสื่อสารให้ผู้ปกครองทราบว่า จังหวะการกิน อยู่ หลับนอนของเด็กเป็นสิ่งสำคัญมาก รวมทั้งเด็กควรมีเวลาได้ออกกำลังกาย ได้ออกไป Outdoor บ้าง มีเวลาอยู่ในมุมสงบของเขาบ้าง และมีเวลาได้พบปะครูทางออนไลน์  โรงเรียนจึงให้พ่อแม่ลูกได้ร่วมกันออกแบบตารางกิจวัตรประจำวัน ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับวิถีของแต่ละบ้านด้วย โดยจัดเวลาให้สะดวกแก่การใช้ชีวิตของแต่ละบ้าน ร่วมกับตารางกิจกรรมของครูที่มีกำหนดเวลาที่เด็กต้องพบครูทางออนไลน์

ตัวอย่างตารางกิจวัตรประจำวันของเด็กแต่ละชั้น ที่เด็กทำร่วมกับพ่อแม่ผู้ปกครอง

การเตรียมความพร้อมให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง และเด็กเช่นนี้ นับเป็นก้าวแรกที่จะขับเคลื่อนให้ HBL ของโรงเรียนนั้นประสบความสำเร็จ ทำให้การเรียนรู้ของเด็กเกิดผลดีต่อตัวเด็ก อีกทั้งพ่อแม่ยังได้เรียนรู้ รู้จักลูกตัวเองมากขึ้นด้วย


ครูจะจัดช่วงเวลาออนไลน์กับเด็กอย่างไรให้มีคุณค่า

ช่วงเวลาที่ครูกับเด็กพบกันทางออนไลน์ควรเป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่า เด็กๆ เกิดการเรียนรู้พัฒนาอย่างมีความสุข ไม่ใช่ครูมาสอนหน้าจอให้เด็กนั่งฟังเฉยๆ

          โรงเรียนอนุบาลบ้านพลอยภูมิมีการจัดวางจังหวะกิจกรรมในช่วงเวลาที่ครูพบกับเด็กๆ ทาง ZOOM ที่น่าสนใจ เป็นรูปแบบที่ครูนำไปปฏิบัติได้ชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ ดังนี้    

          Arrival เริ่มด้วยการใช้เพลงเป็นสัญญาณของการมาพบกัน ซึ่งเป็นเพลงซ้ำๆ เดิมๆ และครูประจำชั้นเป็นคนร้อง ทำให้เด็กเข้าใจได้ว่าเมื่อได้ยินเพลงนี้ก็ถึงเวลาที่เด็กจะได้มาเรียนรู้กับครู

          Conversation คือเน้นที่การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็ก ดังนั้นครูจะต้องเรียกชื่อเด็กทุกคน ตลอดช่วง ZOOM เท่าที่จะเป็นไปได้ ให้เด็กได้มีการโต้ตอบ เพื่อให้เด็กคนนั้นได้รู้สึกถึงการมีตัวตนของเขากับครูกับเพื่อนในกลุ่ม

          Story/ Finger Play/ Rhyme กิจกรรมในการ ZOOM ครูเล่านิทาน เล่นหุ่นนิ้ว หุ่นมือ สอนคำคล้องจอง

          Action มีกิจกรรมที่เด็กจะต้องได้เคลื่อนไหว ลงมือทำ เล่นเกม บางครั้งเชิญชวนให้พ่อแม่ ผู้ปกครองเข้าร่วมทำกิจกรรมกับลูกด้วย เช่นวันแม่ ชวนเด็กๆ นวดให้คุณแม่ ท่องกลอนวันแม่ไปด้วย เป็นต้น

          Departure ใช้เพลงเป็นสัญญาณลาจากเช่นกัน

การวางจังหวะของกิจกรรมทำให้เกิดความสม่ำเสมอที่ทำให้เด็กรับรู้เข้าใจ ครูมีการจัดการที่ชัดเจน และเด็กเกิดการเรียนรู้พัฒนาทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์-สังคม มี Self ที่ดี

บรรยากาศในการ ZOOM ครูแต่งตัวดึงดูดความสนใจของเด็ก บางครั้งพ่อแม่ ผู้ปกครองก็เข้าร่วมด้วย

เรียบเรียง : ผาณิต บุญมาก
บรรณาธิการ : ภาวนา อร่ามฤทธิ์
สถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป)