เด็กอยู่ที่ไหนก็ได้เรียน … อยู่ที่ไหนก็เรียนได้
อาจารย์วิเชียร ไชยบัง ผู้อำนวยการโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ได้มาแลกเปลี่ยนมุมมองเรื่องการจัด Home – Based Learning กับสถาบัน RLG ในรายการ “Can Do ครู EF” โดยกล่าวถึงการศึกษากับสถานการณ์โควิดว่า “สถานการณ์โควิดมา disrupt บางอย่างเพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ กระบวนการทางการศึกษาต้องเคลื่อน Mindset จากเดิม” จากที่ใช้โรงเรียน สถานศึกษา มหาวิทยาลัยเป็นฐานในการเรียนรู้ เด็กต้องเรียนที่สถาบันการศึกษาจึงจะได้วุฒิ ได้รับการรับรอง ต้องเปลี่ยนใหม่เป็นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ เรียกว่า Child – Based Learning โลกยุคใหม่เด็กๆ เขามีเป้าหมายแบบใหม่ เขาจะต้องแสวงหาการเรียนและคอนเทนต์แบบใหม่เอง
“ผมมองว่าตอนนี้เป็นโอกาสดีมากที่เด็กไม่ได้มาโรงเรียน แล้วเราออกแบบการเรียนรู้ให้เป็น Child – Based Learning จริงๆ เกิด Mindset ใหม่ว่า เด็กอยู่ที่ไหนก็ได้เรียน และ อยู่ที่ไหนก็เรียนได้ “เด็กอยู่ที่ไหนก็ได้เรียน” หมายความว่าผู้ใหญ่ได้สร้างโครงสร้างที่ทำให้เด็กอยู่ที่ไหนก็ได้เรียน ส่วน “อยู่ที่ไหนก็เรียนได้”เป็นการเปลี่ยน Mindset ทางการศึกษาที่เปลี่ยนจากต้องไปโรงเรียนเท่านั้นจึงจะเรียนได้ สองเรื่องนี้ต้องทำในช่วงที่เด็กอยู่บ้านในช่วงโควิดนี้”
อาจารย์วิเชียรมีความเห็นว่า สถานการณ์โควิดนี้จะไม่ทำให้สิ่งต่างๆ กลับไปเหมือนเดิม ครูและนักการศึกษาไม่ควรยอมแพ้ต่อสถานการณ์ อุปสรรค ปัญหา ตอนนี้ครูและนักการศึกษามีหน้าที่ออกแบบการเรียนการศึกษาให้ยังสามารถพัฒนาผู้เรียนได้ในทุกมิติ ทำให้ผู้เรียนพัฒนาตัวเองได้ การเรียนรู้ไม่ถดถอย ถ้าครูคิดไม่ออกหรือทำได้ยังไม่ดีพอ ก็ต้องระดมความคิด ร่วมกันคิดให้มากจนลงตัว ได้รูปแบบการเรียนการสอนที่ดีให้ได้
สถานการณ์โควิด-19 ที่ Disrupt ระบบการศึกษาและโจทย์ใหม่ๆ ได้กระตุ้นให้ครูโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาคิดค้นออกแบบการเรียนการสอน HBL กันอย่างสนุกสนานและเป็นระบบ ซึ่งช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่บ้านได้อย่างแท้จริง ที่สำคัญคือช่วยให้พ่อแม่เปลี่ยน Mindset ได้ โรงเรียนมีกระบวนการทำงานอย่างเป็นระบบ ดังนี้
ขั้นตอนที่1 ใช้กระบวนการ PLC วิเคราะห์สภาพปัญหา ความซับซ้อนของสถานการณ์โควิด นักเรียน ผู้ปกครอง เครื่องมือ วิธีการ โรงเรียนได้วิเคราะห์ความคิดที่ว่าเด็กหยุดเรียนเป็นโอกาสทางการศึกษาแบบใหม่ ความซับซ้อนก็คือต้องวิเคราะห์ว่าผู้เรียนแต่ละคนมีศักยภาพในการเรียนรู้มากน้อยแค่ไหน ผู้ปกครองแต่ละคนมีความยากลำบากต่างกันอย่างไร สื่อ เครื่องมือ อุปกรณ์เป็นอย่างไร
ขั้นตอนที่ 2 Share Vision เมื่อวิเคราะห์สิ่งต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ก็ทำการแชร์ความคิดกับครูด้วยกระบวนการ PLC กับผู้ปกครองด้วยการปฐมนิเทศน์ กระตุ้นเสริมพลังให้พ่อแม่ได้ตระหนักถึงโอกาสที่จะก้าวสู่ยุคใหม่ของคนรุ่นใหม่ที่ผู้เรียนสามารถตั้งเป้าหมายการเรียนรู้ของตนเอง แสวงหาการเรียนรู้เพื่อเป้าหมายของตนเองได้ และให้พ่อแม่ตระหนักถึงศักยภาพของตนเอง
เมื่อแชร์มุมมองความคิดแล้ว จึงตั้งเป้าหมายการทำงานกับกลุ่มเป้าหมาย 2 กลุ่ม คือ
1. ผู้เรียน ต้องการผู้เรียนแบบใด ซึ่งผู้เรียนแต่ละกลุ่มมีความซับซ้อนแตกต่างกันไป
2. ผู้ปกครอง โรงเรียนตั้งเป้าหมายกับผู้ปกครอง 3 เรื่องด้วยกัน คือ หนึ่ง ต้องการให้ผู้ปกครองเรียนรู้ร่วมกับครูว่ามุมมองความเข้าใจต่อการศึกษาที่ทันยุคทันสมัยตอนนี้คืออะไร สอง ต้องการให้ผู้ปกครองรู้จักลูกจริงๆ เข้าใจพัฒนาการของลูกแต่ละวัย การดูแลอย่างเหมาะสมตามวัย และสาม ต้องการให้ผู้ปกครองรู้วิธีการดูแล เทคนิควิธีการมีปฏิสัมพันธ์กับลูกอย่างเหมาะสม เช่น ถ้าเด็กโตผู้ปกครองต้องไม่สอน ไม่สั่ง ไม่กดดัน เป็นต้น รู้วิธีประเมิน วิธี Feedback ลูก หากเป็นเด็กเล็ก (อนุบาล) พ่อแม่ต้องรู้วิธีจัดกิจกรรมกับลูก วิธีสังเกตพัฒนาการ ทักษะ EF และ Self ของลูก
ขั้นตอนที่ 3 ออกแบบกระบวนการ วิธีการ โดยใช้กระบวนการ PLC ครูทำงานหนักมากในขั้นตอนนี้ ภายใต้โจทย์ว่าจะออกแบบการเรียนการสอนอย่างไรที่ทำให้ไม่เป็นภาระกับเด็กมาก แต่เกิดการเรียนรู้ที่มีความหมาย มีความสำคัญ
ขั้นตอนที่ 4 ดำเนินการ ติดตามประเมินผลลัพธ์อย่างต่อเนื่องเพื่อปรับแผนได้ทันท่วงที การติดตามประเมินผลลัพธ์มีความสำคัญมาก ซึ่งจะทำให้รู้ว่าโรงเรียนและครูทำถูกทางหรือไม่ ตรงตามเป้าหมายหรือไม่ ทำให้ผู้เรียนเข้าใจเป้าหมายของการเรียนรู้นั้นๆ ได้ถูกต้อง
กระบวนการทำงานเหล่านี้ (ขั้นตอนที่ 1-2-3-4) จะวนเป็น Loop อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้การเรียนการสอน HBL มีประสิทธิภาพยิ่งๆ ขึ้น
สถานการณ์ที่ใครๆ มองว่าคือวิกฤต แต่ในมุมมองนักคิดนักการศึกษาเช่นอาจารย์วิเชียร กลับมองเห็นโอกาสและคิดระบบที่ปฏิบัติได้จริง นับเป็นนิมิตหมายที่ดีของการศึกษาไทย และเป็นเรื่องน่ายินดีที่เราจะมองเห็นหนทางสู้และอยู่กับโควิดที่คาดว่าจะอยู่กับเราไปอีกนาน ดังที่อาจารย์วิเชียรกล่าวว่า “เราควรเรียนรู้ให้ทั้งเด็กและเราอยู่ร่วมกับมันได้ นับเป็นความท้าทายของมนุษยชาติที่จะร่วมกันออกแบบการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับโควิดนี้ ความกลัวไม่ช่วยอะไร ต้องหันมาตั้งตัว เรียนรู้ร่วมกัน รื่นเริงไปกับมัน”
Coaching พ่อแม่ ผู้ปกครอง
งานสำคัญของ Home – Based Learning
โรงเรียนอนุบาลทอรัก เป็นโรงเรียนหนึ่งที่มีการเรียน Home – Based Learning ที่โรงเรียนกล่าวว่าเป็นการเรียนแบบ Active Learning 100% เช่นเดียวกับการเรียนปกติที่โรงเรียน ในเมื่อครูไม่สามารถตามไปสอนเด็กๆ ที่บ้านได้ โรงเรียนจึงให้ความสำคัญกับพ่อแม่ผู้ปกครองอย่างมาก นอกจากครูจะออกแบบการเรียนการสอนและกิจกรรมที่เป็น Active Learning แล้ว ยังทำงานอย่างมากกับผู้ปกครอง มีการสื่อสารติดตาม คอยช่วยเหลือแก้ปัญหาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะมีการ Coaching พ่อแม่ผู้ปกครองอย่างเข้มข้นในเรื่องเทคนิควิธีทำกิจกรรมกับลูก
การโค้ชพ่อแม่ ผู้ปกครอง แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ระดับชั้นเตรียมอนุบาล-อนุบาล 1 และอนุบาล 2-อนุบาล 3
ระดับชั้นเตรียมอนุบาล – อนุบาล 1
ครูส่งแผนการเรียนการสอนให้พ่อแม่ ผู้ปกครองได้ทราบล่วงหน้าว่าจะมีการทำกิจกรรมอะไร เวลาใดวัยนี้พ่อแม่มีอิทธิพลต่อการส่งเสริมพัฒนาการของลูกอย่างมาก และปัจจุบันลูกต้องอยู่กับพ่อแม่ตลอด 24 ชม. โรงเรียนจึงให้ความสำคัญกับการโค้ชพ่อแม่กลุ่มนี้เป็นพิเศษ โดยเฉพาะสอนเทคนิควิธีการทำกิจกรรมกับลูกๆ ซึ่งมีทั้ง Coaching เป็นกลุ่ม และCoaching รายบุคคล เพราะแต่ละบ้านมีบริบทไม่เหมือนกัน
Coaching กลุ่ม ช่วงบ่ายทุกวันผ่าน ZOOM ให้ความรู้ความเข้าใจพ่อแม่ในเรื่องกิจกรรมต่างๆ ที่ลูกต้องทำต้องเรียนรู้ โดยใช้เวลาระหว่างที่ลูกพักจากการทำกิจกรรมกับครู ไปเล่นหรือนอน ครูจะสอนพ่อแม่ในเรื่องเทคนิควิธีทำกิจกรรมกับลูก สอนเรื่องเพลง กลอนที่จะใช้นำเด็กทำกิจกรรม แล้วให้พ่อแม่กลับไปทำกิจกรรมกับลูกตามที่ครูสอน เช่น สอน Brain Gym เพลงขนมจีบ ซาละเปา ครูสอนให้พ่อแม่ทำท่าและร้องเพลง สอนวิธีใช้คำพูดกับลูกในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่นถ้าจะสอนลูกซักผ้า ก็ต้องเริ่มด้วยนิทานก่อน ซึ่งเป็นเทคนิควิธีที่ครูใช้ที่โรงเรียน เป็นต้น ถ้าวันใดพ่อแม่ไม่ว่าง ปู่ย่าตายายจะเข้ามารับการ Coaching แทน พบว่าพ่อแม่มีพลังมาก มีความพยายามที่จะเรียนรู้ และในที่สุดก็ทำได้ดี สามารถนำลูกทำกิจกรรมได้เหมือนครูจนครู Coach น้อยลง
Coaching รายบุคคล เนื่องจากแต่ละบ้านมีบริบท ปัญหา อุปสรรค ไม่เหมือนกัน ครูจึงใช้วิธีโทรศัพท์พูดคุยทุกสัปดาห์ และถ้าบ้านใดมีเรื่องเร่งด่วนก็จะโทรศัพท์พูดคุยกันทันที
ระดับชั้นอนุบาล 2 – อนุบาล 3
บทบาทพ่อแม่เปลี่ยนเป็นผู้อำนวยการและผู้สังเกตการณ์ เพราะลูกๆ สามารถเรียนออนไลน์กับครูได้ด้วยตัวเองแล้ว พ่อแม่มีหน้าที่เปิด-ปิดระบบ ดูแลกิจวัตรประจำวัน จัดสื่อ อุปกรณ์ ที่โรงเรียนจัดให้เดือนละ 1 ครั้ง โดยพ่อแม่จัดหามาไว้ในที่ที่ลูกจะหยิบใช้ทำกิจกรรมได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องจัดเตรียมให้เป็นรายกิจกรรม ทุกกิจกรรมเด็กจะต้องจัดเตรียมอุปกรณ์เอง ลงมือทำเสร็จแล้วเก็บเข้าที่ด้วยตัวเอง ลูกทำกิจกรรมตามที่ครูแนะนำ พ่อแม่มีหน้าที่คอยสังเกตดูลูกทำกิจกรรมกับครูเท่านั้น ครูจะบอกพ่อแม่ว่าอย่าดูที่ผลงานของลูกว่าสวยหรือไม่สวย ดีไหรือไม่ดี แต่เน้นกระบวนการที่เด็กได้ลงมือทำ การเรียนรู้ที่มีความสุข และความรู้สึกภาคภูมิใจเมื่อทำงานสำเร็จมากกว่า
พ่อแม่จะได้เรียนรู้ไปในระหว่างทางอันเป็นโอกาสที่จะได้เห็นลูกเรียนรู้อย่างใกล้ชิด ซึ่งต่างจากเมื่อลูกเรียนที่โรงเรียนที่ไม่มีโอกาสได้เห็น HBL ทั้งทำให้พ่อแม่ได้เห็นวิธีการเรียนรู้ของลูก ได้เห็นศักยภาพของลูก ได้รู้จักลูกมากขึ้น ได้มีปฏิสัมพันธ์ สร้างสายสัมพันธ์กันมากขึ้นด้วย
เรียบเรียง : ผาณิต บุญมาก
บรรณาธิการ : ภาวนา อร่ามฤทธิ์
สถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป)