เทคนิคการจัดHome – Based Learning ให้เป็น Active Learning และส่งเสริมทักษะสมอง EF

เทคนิคการจัด Home-Based Learning ให้เป็น Active Learning และส่งเสริมทักษะสมอง EF

ในสถานการณ์ที่มีโรคระบาดโควิด-19 เป็นช่วงเวลาที่เด็กๆ อยู่บ้านและเรียนผ่านจอ หรือเรียนออนไลน์ เป็นเรื่องที่ทำให้ทุกคนวิตกว่า การเรียนออนไลน์นั้นทำอย่างไรจึงจะมีคุณภาพ ประสิทธิภาพ เป็นการเรียนการสอนที่เป็น Active Learning ที่นำไปสู่การส่งเสริมพัฒนาการทุกๆ ด้านของเด็ก อีกทั้งส่งเสริมทักษะสมอง EF ให้กับเด็กๆ ด้วย 

ดังนั้นสถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป)  จึงได้นำตัวอย่างโรงเรียนที่มีความเชี่ยวชาญในกระบวนการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning แม้แต่ในสถานการณ์โควิด-19 ก็ยังสามารถทำให้การเรียนผ่านจอเป็นการเรียนแบบ Active Learning กับเด็กๆ ที่บ้านได้ คือ โรงเรียนจิตตเมตต์ (ปฐมวัย) และโรงเรียนอนุบาลช้างเผือก ทั้งสองโรงเรียนมีกระบวนการคิดและเทคนิคการเรียนออนไลน์หรือที่เรียกว่า Home – Based Learning สรุปได้ดังนี้

1. สื่อสารทำความเข้าใจกับพ่อแม่

เมื่อต้องมาเป็น Home – Based Learning  พ่อแม่ส่วนใหญ่กังวลว่าตัวเองจะต้องมาเป็นครูสอนลูกเองหรือเปล่า? ที่จริง Home – Based Learning เป็นแค่การย้ายฐานการเรียนรู้จากที่โรงเรียนมาที่บ้านเท่านั้น โรงเรียนไม่ได้ต้องการให้พ่อแม่มาเป็นครูสอนลูก ยังอยากให้พ่อแม่ทำหน้าที่พ่อแม่เหมือนเดิม พ่อแม่มีบทบาทในการติดตามดูลูกเล่น เฝ้าสังเกต เรียนรู้จากที่ลูกเล่น จัดเตรียมอุปกรณ์ที่สอดคล้องกับการเรียนรู้ของลูก ครูเป็นผู้ให้โจทย์ สร้างแรงบันดาลใจ ส่งวัสดุอุปกรณ์ไปให้ หรือบอกให้พ่อแม่ผู้ปกครองช่วยเตรียมให้ลูก ถ้าพ่อแม่คิดแทนลูก ลูกจะไม่ได้คิด ถ้าทำแทนลูก ลูกก็จะไม่ได้ทำ ไม่เป็น Active Learning

สื่อสารกับพ่อแม่ว่า โรงเรียนจะจัด Home – Based Learning   แบบนี้ โดยพ่อแม่จะต้องจัดการเวลาเพื่อจะอยู่กับลูก มีตารางเวลาชัดเจน แต่ละห้องจะเข้าเรียนเวลาใด ขอให้เป็นหนึ่งในงานสำคัญของพ่อแม่ และอยากให้พ่อแม่เรียนรู้ไปกับลูกด้วย

ส่วนโรงเรียนจะเคียงข้างไปกับพ่อแม่ โดยคำนึงถึงบริบทของพ่อแม่ด้วย ไม่ใช่ให้ตารางสอนไป แล้วทำให้พ่อแม่เครียด  โรงเรียนต้องรู้ว่าที่บ้านใครคือคนที่จะเป็น “ผู้อำนวย”การเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งขึ้นอยู่กับว่า ขณะเรียนนั้นเด็กอยู่กับใคร บางบ้านเป็นแม่ บางบ้านเป็นพ่อและแม่ บางบ้านอาจเป็นยายเพราะพ่อแม่ไปทำงาน ต้องสื่อสารให้ผู้ที่อยู่ข้างเด็กให้ความร่วมมือสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งคนๆ นั้นจะต้องเข้าใจกิจกรรมของโรงเรียน เข้าใจโอกาสของเด็กและบทบาทของตัวเอง  เช่น ปล่อยให้เด็กเล่นเอง ไม่เข้าไปแทรกแซง ทำแทนเด็กเป็นต้น โดยโรงเรียนมีห้องเรียนพ่อแม่ที่คอยช่วยเหลือให้ความรู้แก่ผู้ปกครอง

2. สร้าง Mindset ใหม่ให้ครู

สร้างความเข้าใจให้ครูเข้าใจว่า Home – Based Learning  คืออะไร เด็กเรียนที่บ้าน ครูจะสอนที่ไหนก็ได้ ที่โรงเรียนหรือนอกโรงเรียนก็ได้ แต่การเรียนการสอนยังเป็น Active Learning เป้าหมายที่ต้องการเห็นเด็กพัฒนาไปอย่างไรยังเหมือนเดิม เด็กจะต้องเรียนรู้ให้ได้เหมือนเดิมหรือใกล้เคียงที่สุด

เวลาครูเขียนแผนการเรียนการสอนยังต้องได้เป้าหมายชัดเจน เป็น Active Learning คือเด็กต้องทำกับครู เด็กต้องเกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่ครูหรือพ่อแม่ทำให้ และเป็นการเรียนรู้แบบร่วมมือกันเรียนรู้ (Cooperative Learning) ไม่ใช่ให้เด็กฟังอยู่ที่หน้าจอเฉยๆ

การสอนหน้าจอนั้นครูต้องใช้พลังมากกว่าการสอนหน้าชั้น เวลาสอนหน้าชั้นเด็กจะมองครู หัวเราะ ส่งพลังกลับมา แต่การสอนหน้าจอ ปฏิสัมพันธ์การโต้ตอบไม่ Real Time เท่ากับสอนที่โรงเรียน ดังนั้นเวลาสอนหน้าจอ ครูจึงต้องใช้พลังและสร้างพลังให้มาก ครูต้องฝึกมองเข้าไปในกล้องเพื่อให้เหมือนว่าสบตาเด็กอยู่เสมอ

3. การสื่อสาร

เครื่องมือสื่อสารที่โรงเรียนใช้สื่อสารกับทางบ้าน มีทั้ง Facebook, Line และ Zoom ต้องรู้ว่าจะใช้เครื่องมือสื่อสารช่องทางใดเพื่อประโยชน์อะไร เช่น ใช้ Facebook กับ line ในการสื่อสารโต้ตอบ ถ้าต้องการโต้ตอบกันฉับพลันเป็นกลุ่มใหญ่ก็ต้องใช้ Zoom เป็นต้น จึงต้องเลือกเครื่องมือที่เหมาะสมกับกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ตามที่ตั้งเป้าหมาย และต้องเข้าใจว่าจะสื่อสารอะไร เมื่อไร อย่างไร ถึงจะได้ผล เช่น แต่ละบ้านมีกิจวัตรประจำวันที่แตกต่างกัน ทำอย่างไรที่จะทำให้ชมย้อนหลังได้ สามารถเข้าไปดูใน Facebook ได้ว่าในหนึ่งสัปดาห์โรงเรียนมีกิจกรรมอะไรบ้าง

ที่สำคัญมากคือ การสื่อสารต้องมีการ Feedback กลับมา เช่น เรียนไปได้ประมาณ 4 สัปดาห์โรงเรียนได้ชวนผู้ปกครองมา Feedback รูปแบบมีทั้งการตอบแบบสอบถามและประชุมผ่าน Zoom ขอให้แสดงความคิดเห็นว่าควรปรับปรุงอะไร อย่างไร เพราะว่าสถานการณ์เปลี่ยนตลอดเวลา

สำหรับเด็กๆ โรงเรียนใช้การสื่อสารเพื่อหล่อเลี้ยงพลังแห่งการเรียนรู้อย่างมีความสุขของเด็กๆ และระวังไม่ให้ส่งผลข้างเคียงเชิงลบระยะยาว เช่น การติดจอ จึงไม่ให้เด็กจดจ่ออยู่กับจอนาน แต่ครูสร้างแรงบันดาลใจผ่านจอกระตุ้นให้เด็กอยากทำกิจกรรมต่างๆ จนเด็กติดครู แต่ไม่ติดจอ

4. เวลา

โรงเรียนต้องนึกถึงเรื่องเวลา อย่าให้เวลาความสุขของครอบครัวหายไป หรือเป็นภาระของพ่อแม่ ต้องคำนึงถึงชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวด้วย รวมทั้งเวลาของเด็กที่จะได้อยู่อย่างอบอุ่นกับครอบครัว

ทำตารางเวลากิจกรรมสำหรับเด็กเหมือนเวลาที่เด็กอยู่ที่โรงเรียน เพื่อให้เด็กสามารถจัดการกับชีวิตตัวเอง เด็กได้รู้ว่าตัวเองต้องทำอะไร เวลาใด

5. วัสดุอุปกรณ์การเรียนรู้

โรงเรียนอาจจัดส่งวัสดุอุปกรณ์บางอย่างไปให้ทางบ้าน และให้ทางบ้านจัดเตรียมด้วย ซึ่งมักเป็นวัสดุที่หาได้ที่บ้าน เช่น กล่องพัสดุจากการซื้อของ เป็นต้น โดยเอามาเป็นอุปกรณ์ประกอบการออกกำลังกาย พัฒนา Sensory Integration หรือใบไม้ กิ่งไม้ กระป๋อง ฯลฯ

6. สร้างแรงบันดาลใจให้เด็ก

ที่บ้านเด็กๆ ควรมีมุมของตัวเองสำหรับทำกิจกรรม เป็นพื้นที่ที่เด็กดูแลและรับผิดชอบ มีความเป็นเจ้าของ เป็นการฝึกระเบียบวินัยไปในตัวด้วย

ใช้นิทานเป็นตัวกระตุ้นให้เด็กรู้สึกอยากจะทำกิจกรรมแล้วเกิดการเรียนรู้ โดยโรงเรียนส่งหนังสือนิทานมาพร้อมกับโจทย์ชวนทำกิจกรรม เช่นนิทานเรื่องคุณไปรษณีย์หนู ต้องการให้เด็กได้คิดว่าการสื่อสารไม่ได้มีแต่ IT เท่านั้น และสร้างแรงบันใจให้เด็กๆ อยากเขียนจดหมายและอยากอ่านสิ่งที่คนอื่นสื่อสารมาให้ หรือโรงเรียนส่งหนังสือนิทานมาพร้อมกับเกมบอร์ด ที่มีการสอดแทรกการเรียนรู้บางเรื่องและพ่อแม่สามารถร่วมเล่นด้วยได้ เป็นต้น

ใช้เพลงสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กรู้สึกสนุก อยากมานั่งหน้าจอ เจอครู เรียนรู้กับครู เป็นสัญญาณบอกว่าถึงเวลาเรียนแล้ว หรืออยากลุกขึ้นมากระโดดโลดเต้น

นี่คือกระบวนคิดและเทคนิคที่จะช่วยให้ Home – Based Learning  เป็นการเรียนรู้ผ่านจอที่สนุกสนานและมีคุณภาพ สามารถพัฒนาเด็กได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ รวมทั้งพัฒนาทักษะสมอง EF ก็ทำได้ไม่ยาก

เทคนิคกากรฝึกวินัยให้ลูก เมื่อต้องเรียนออนไลน์ที่บ้านในช่วงโควิด

โรงเรียนอนุบาลหลายโรง มีปฏิทินกิจวัตรประจำวันสำหรับเด็ก เพื่อให้เด็กรู้ว่าวันนี้จะต้องทำอะไรเมื่อใดบ้าง เวลาเด็กอยู่ที่โรงเรียนจึงมีตารางกิจวัตรประจำวันชัดเจน ซึ่งเด็กๆ สามารถปฏิบัติตามตารางนั้นได้ แต่ในช่วงโควิด เด็กต้องอยู่บ้านกับพ่อแม่ทั้งวัน ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองอาจต้องปวดหัวที่ลูกๆ เรียกร้องให้พ่อแม่ใช้เวลาอยู่กับเขา เล่นกับเขา โดยเฉพาะพ่อแม่บางบ้านที่ต้อง Work From Home งานก็ต้องทำ ลูกก็ต้องดูแล ทำให้เครียดกันไปหมด บรรยากาศในบ้านแย่ลง รวมทั้งลูกไม่มีระเบียบวินัยเหมือนตอนไปโรงเรียน

โรงเรียนจิตตเมตต์ (ปฐมวัย) มีเทคนิคในการรับมือกับปัญหานี้ โดยทำแผ่นตารางเวลาที่เรียกว่าตารางกิจวัตรเพื่อการวางแผนจัดการชีวิตตนเอง  ซึ่งได้ไอเดียมาจากที่ ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร (ครูหม่อม) ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก กล่าวว่า การที่เด็กรู้ว่าในหนึ่งวันทุกคนมีทั้งเวลาที่เป็นส่วนตัวของตัวเอง ที่ต้องจัดการชีวิต ทำอะไรต่างๆ และมีเวลาของครอบครัวที่ต้องมาเจอกัน จะช่วยให้เด็กเห็นภาพชัดว่าเมื่อไรจะได้เจอพ่อแม่ เมื่อไรจะได้ทำกิจกรรมร่วมกัน และตัวเองต้องทำอะไรเวลาใด

ตารางกิจวัตรเพื่อการวางแผนจัดการชีวิตตนเอง

เพื่อให้เด็กสามารถจัดการกับชีวิตตัวเอง โรงเรียนจิตตเมตต์ (ปฐมวัย) ได้ส่งแผ่นตารางนี้ไปให้เด็กๆ พร้อมกับสติกเกอร์ สติกเกอร์สีชมพูคือสิ่งที่จำเป็นต้องทำในแต่ละวัน เช่น อาบน้ำ กินข้าว นอน ซึ่งเมื่อเด็กทำแล้วก็ติดสติกเกอร์ลงบนตาราง แล้วยังมีช่องว่างสำหรับสิ่งที่เด็กเลือกทำได้ด้วย

เด็กติดสติกเกอร์ด้วยตัวเองก็เหมือนว่าเขาได้วางแผนชีวิตตัวเอง ทำให้รู้ล่วงหน้าว่าในแต่ละวันจะต้องทำอะไร เกิดความรู้สึกมั่นคง

ตารางนี้พ่อแม่ก็ต้องทำด้วย เพื่อให้เด็กได้เห็นว่าพ่อแม่ทำอะไรบ้างในแต่ละวัน เช่น ได้เห็นว่าพ่อไปทำงาน แม่ทำงานบ้าน ดังนั้นเขาก็จะไปเล่น ไปทำอะไรของตัวเอง และรู้ว่าเมื่อใดเขาจะได้เจอพ่อแม่

มุมเรียนรู้ของลูก

เด็กๆ ควรมีมุมที่บ้าน จัดอย่างไรก็ได้ ขอให้มีมุมทำงานของตัวเอง เป็นพื้นที่ที่เด็กดูแลและรับผิดชอบ มีความเป็นเจ้าของ

ทั้งหมดนี้เป็นแนวทางที่พ่อแม่สามารถนำไปปรับใช้ในช่วงที่ลูกอยู่บ้านในช่วงโควิดได้ จะช่วยให้เด็กรู้จักมีวินัยในตนเอง รู้จักจัดการเวลาของตนเอง บ้านมีบรรยากาศที่ต่างคนต่างมีช่วงเวลาของตัวเองไปทำเรื่องของตัวเอง และมีเวลาร่วมกันที่จะสร้างความสุขความอบอุ่นในครอบครัว ช่วยให้ความเครียดที่มีอยู่แล้วในช่วงโควิดผ่อนคลายลงได้

สื่อการเรียนออนไลน์จากวัสดุอุปกรณ์ง่ายๆ ที่ทำให้เกิด Active Learning

การเรียนออนไลน์หรือ Home – Based Learning  ที่เป็น Active Learning ไม่ใช่การเรียนการสอนผ่านจอที่ให้เด็กนั่งฟังเฉยๆ แต่มีกิจกรรมที่กระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้ โดยใช้สื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ครูต้องปรับแผนกิจกรรมการเรียนรู้ให้ใช้สื่อ วัสดุอุปกรณ์การเรียนรู้ที่หาได้ง่าย โดยอาจจะส่งอุปกรณ์บางอย่างไปให้ที่บ้าน หรือให้ผู้ปกครองจัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่พอหาได้ในบ้าน เช่นกล่องพัสดุจากการซื้อของ กระป๋องนม เศษผ้า กิ่งไม้ ใบไม้ เป็นต้น

มีตัวอย่างการใช้วัสดุง่ายๆ เช่น กล่องกระดาษ นำมาใช้เป็นสื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย จากโรงเรียนจิตตเมตต์ (ปฐมวัย)

ดังนี้

ครูเริ่มสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กด้วยนิทานเรื่องกล่องธรรมดาๆ ที่ไม่ธรรมดา เป็นนิทานซีรี่ส์ สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กอยากทำกิจกรรมกับกล่อง เช่น ออกกำลังกายกับกล่อง

หลังจากออกกำลังกับกล่องแล้ว ก็เป็นช่วงเอากล่องมาสร้างสรรค์ ครูชวนเด็กๆ ใช้จินตนาการกับกล่อง เช่น เอากล่องหลายๆ ใบมาต่อกันเป็นสิ่งต่างๆ ตามจินตนาการของเด็ก

ครูใช้แอพ ทำ Stop Motion กับกล่องเพื่อกระตุ้นให้เด็กสงสัยว่าทำไมกล่องกระดุกกระดิกได้ แล้วก็สอนให้เด็กๆ ทำบ้างซึ่งเด็กก็ทำได้ และสามารถอยู่กับกิจกรรมนี้ได้นาน เพราะเขาจะคิดไปเรื่อยๆ  หล่อเลี้ยงพัฒนาทักษะสมอง EF ด้านยืดหยุ่นความคิด

ใช้กล่องมาประกอบกิจกรรมดนตรีและการเคลื่อนไหว ครูชวนเด็กๆ เล่นเกมขับรถกับเสียงเพลง โดยทำท่าขับรถไปตามกล่องที่วางไว้ โดยสมมติว่าเป็นสถานที่ที่เด็กจินตนาการว่าขับรถผ่านสถานที่ใดบ้าง หรือจะไปจอดที่ไหนเมื่อเสียงเพลงหยุดลง

นี่คือตัวอย่างกิจกรรมตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เด็กสามารถมีกิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ รวมถึงทักษะสมอง EF ทำให้เด็กๆ มีการเรียนรู้และพัฒนาการที่ต่อเนื่อง  แม้ในสถานการณ์โควิดที่เด็กๆ ไม่ได้ไปโรงเรียน โดยใช้วัสดุอุปกรณ์ง่ายๆ ที่หาได้ที่บ้าน

เรียบเรียง : ผาณิต บุญมาก
บรรณาธิการ : ภาวนา อร่ามฤทธิ์
สถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป)