ใช้หลัก สุ จิ ปุ ลิ ในการจัด Home – Based Learning ได้อย่างไร

ใช้หลัก สุ จิ ปุ ลิ ในการจัด Home – Based Learning ได้อย่างไร

การจัด Home – Based Learning โดยเฉพาะจัดให้เด็กได้เรียนรู้แบบ Active Learning หลายคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่ก็มีหลายโรงเรียนทำได้จริงๆ ดังที่สถาบัน RLG ได้นำเสนอมาแล้ว ซึ่งแต่ละโรงเรียนก็มีแนวทางที่แตกต่างกันไป  ส่วนใหญ่แล้วเริ่มต้นด้วยแนวคิดที่เชื่อมโยงกับการเรียนรู้ที่โรงเรียนอยู่แล้ว โรงเรียนสุจิปุลิ โรงเรียนแนวคิดใหม่ในจังหวัดฉะเชิงเทราก็เช่นกัน เป็นโรงเรียนหนึ่งที่มีแนวคิดในการจัด HBL ที่น่าสนใจ เชื่อมโยงกับหลักการที่โรงเรียนยึดมั่น

ดร.นาฏฤดี จิตรรังสรรค์  ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการโรงเรียนฯ กล่าวว่า โรงเรียนสุจิปุลิยึดหลักสำคัญในการเรียนรู้แบบหัวใจนักปราชญ์เป็นหลักในการจัดการเรียนการสอน แม้ในสถานการณ์โควิดที่เด็กต้องเรียนที่บ้าน ก็ยังใช้หลักสุจิปุลิในการจัด Home – Based Learning ให้เด็กเรียนรู้แบบ Active Learning

มาดูกันว่า สุจิปุลิ จะกลายมาเป็นแนวทางในการจัด HBL ได้อย่างไร

สุ การรับฟัง ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤต ทุกคนต่างเผชิญกับความยากลำบาก ทั้งเด็กๆ ที่ต้องเผชิญกับบรรยากาศหรือบริบทที่ไม่คุ้นเคย จากเรียนกับเพื่อนมาเรียนคนเดียว พ่อแม่ก็มีความลำบากมาก เพราะทั้งต้องดูแลลูกและทำมาหากิน ส่วนครูต้องปรับตัวอย่างมากในการจัดการเรียนการสอน เพราะฉะนั้นเพื่อให้เกิดความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน นำมาซึ่งพลังที่จะจัด HBL ให้ได้ผลดี  โรงเรียนจะต้องรับฟังทุกฝ่าย ทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครอง เด็ก และครู

จิ การคิด เมื่อสร้างความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันแล้ว โรงเรียนก็คิดกิจกรรมเรียนรู้ที่ยังต้องเป็น Active Learning ซึ่งเป็นหัวใจของโรงเรียน รวมทั้งการสร้าง Motivation สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กอยากทำ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นกิจกรรมที่เด็กไม่อยากทำ เป็นผลงานของผู้ปกครองที่ทำส่งครูเสียมากกว่า รวมทั้งต้องคำนึงถึงว่าแต่ละครอบครัวมีกิจวัตรที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงต้องจัดกิจกรรมเรียนรู้ให้มีความยืดหยุ่น เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิผลสูงสุด

ปุ การสื่อสาร โรงเรียนสื่อสารกับผู้ปกครองด้วยความจริงใจ สื่อสารให้ผู้ปกครองเห็น Fact ความจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมด ให้พ่อแม่ได้รู้ว่าการเรียนรู้ของลูกจะเป็นแบบใดและเกิดขึ้นได้อย่างไร ให้ความรู้และให้เข้าใจบริบทของโรงเรียน รับฟัง Feedback เสียงสะท้อนจากพ่อแม่เพื่อให้เกิดการปรับปรุงแก้ไข ซึ่งหากปรับได้ตั้งแต่ต้นก็จะไม่กลายเป็นปัญหาใหญ่ การ Feedback จะทำให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างครูกับผู้ปกครอง การสนับสนุนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพราะต่างรู้ความต้องการของกันและกัน เป็นการทำงานที่ Win – Win ด้วยกันทั้งครูและผู้ปกครอง เกิดความรู้สึกดีที่จะพัฒนาเด็กไปด้วยกัน

ลิ การบันทึก ชวนพ่อแม่ประเมินลูกเพื่อพัฒนาเด็กในแต่ละมิติ เพราะโรงเรียนมีเป้าหมายในการพัฒนาเด็กอย่างองค์รวม ดังนั้น แม้ในสถานการณ์โควิดเด็กก็ยังต้องได้รับการพัฒนาในทุกๆ มิติ  ทางโรงเรียนชวนพ่อแม่ผู้ปกครองเฝ้าดูพัฒนาการของลูกที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน เขาทำอะไรได้ดีขึ้น เช่น รับผิดชอบอะไรได้ เขาคิดอย่างไรกับสิ่งที่ทำ เขาปฏิบัติตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ได้หรือไม่ มีวินัยรับผิดชอบในเรื่องส่วนตัวได้หรือเปล่า พ่อแม่มีการสะท้อนผลการเรียนรู้ของลูกผ่าน ZOOM เป็นระยะๆ

จะเห็นว่าหลักการ สุ จิ ปุ ลิ ในการจัด HBL เป็นกระบวนการที่ทำให้โรงเรียนกับบ้าน ครูและพ่อแม่ ผู้ปกครอง จับมือกันเป็นพันธมิตรเพื่อสร้างการเรียนรู้ที่มีประสิทธิผลให้เด็กๆ เพราะต่างฝ่ายต่างมีเป้าหมายเดียวกัน และเกิดความรู้สึกดีๆ ร่วมกันในการจัด HBL


การเรียนรู้ผ่านกิจกรรมพื้นฐานที่เด็กๆ ชื่นชอบ

มีคำถามว่า “เด็กๆ อยู่บ้านจะเกิดการเรียนรู้พัฒนาได้อย่างไร” และมีคำพูดว่า “เด็กๆ เรียนรู้ได้ทุกที่ตลอดเวลา”  คำพูดเหล่านี้เป็นไปได้จริงหรือ? 

โรงเรียนสุจิปุลิ จังหวัดฉะเชิงเทรา ยืนยันว่าเป็นไปได้จริงโดยพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ต้องทำอะไรให้ยุ่งยาก เพียงให้เด็กเรียนรู้ผ่านกิจกรรมธรรมดาๆ ที่เด็กๆ ชื่นชอบอยู่แล้ว 4 อย่างซึ่งเด็กๆ ต้องทำทุกวันที่บ้าน คือ การอ่าน การเล่น การทำงาน และการออกกำลังกาย  ทั้ง 4  กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมพื้นฐานในการจัด Home – Based Learning ของโรงเรียนสุจิปุลินั่นเอง

การอ่าน ให้คุณพ่อคุณแม่อ่านหนังสือที่โรงเรียนจัดให้และหนังสือจากการแลกเปลี่ยนระหว่างบ้าน  ให้ลูกฟังอย่างน้อยวันละ 1 เล่มทุกวัน รวมทั้งให้พ่อแม่พูดคุยกับลูก แล้วจดบันทึกไว้เป็น feedback ให้คุณครูได้ทราบในชั่วโมง ZOOM เพราะต้องการปลูกฝังให้เด็กรักการอ่าน รักหนังสือ ก่อนที่จะอ่านหนังสือเป็น

การเล่น โรงเรียนสนับสนุนให้ผู้ปกครองพาเด็กๆ เล่นให้เต็มที่ แล้วแบ่งปันภาพให้เห็นว่าเด็กๆ เล่นอะไรกันบ้าง  เด็กๆ รู้สึกอย่างไร

การทำงาน ให้เด็กๆ มีหน้าที่รับผิดชอบงานในบ้าน อย่างน้อย 1 อย่าง และทำเป็นประจำ ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้

การออกกำลังกาย  ให้ผู้ปกครองจัดให้ลูกได้ออกกำลังกายทุกวัน แบบไหน อย่างไรก็ได้ตามสะดวก ครั้งละอย่างน้อย 12 นาที

เพียงคุณพ่อคุณแม่มีส่วนร่วมในการอ่านหนังสือให้ฟัง จัดงานบ้านง่ายๆ ให้ลูกรับผิดชอบเป็นประจำ เตรียมอุปกรณ์ในการเล่นและออกกำลังกายบ้าง เป็นกิจกรรมที่ง่ายแต่เด็กได้เรียนรู้พัฒนาในหลายๆ มิติ ทั้งพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ มัดเล็ก ได้พัฒนาสติปัญญา การคิด และที่สำคัญได้ฝึกทักษะสมอง EF ในทุกๆ ด้าน ทั้งความจำ การวางแผน การมุ่งเป้าหมาย การริเริ่มลงมือทำ การมีสมาธิจดจ่อ การคิดไตร่ตรอง ได้ฝึกยืดหยุ่นความคิด(คิดแก้ปัญหา คิดสร้างสรรค์) ควบคุมอารมณ์ ประเมินตนเอง


P.E.R.M.A Framework
กับการจัด Home – Based Learning อย่างมีความสุข

P.E.R.M.A Framework เป็นกรอบความคิดที่ทำให้คนเราดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข สามารถนำมาใช้ในการเรียน การทำงาน หรือชีวิตครอบครัวก็ได้

101 Educare Center สถาบันพัฒนาสมองและศักยภาพเด็กด้วยวิธีการเชิงบวก โดย ดร.ปิยวลี ธนเศรษฐกร (ครูใหม่) ได้เลือกเอาแนวคิด P.E.R.M.A มาเป็น Framework ในการจัด Home – Based Learning เนื่องจากตระหนักว่าท่ามกลางวิกฤตสถานการณ์โควิดทุกคนเผชิญกับความเครียด วิตกกังวลจากสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดเดาได้ เรื่องการดูแลอารมณ์ความรู้สึก การรักษาความสัมพันธ์เป็นเรื่องสำคัญ  ถ้าผู้บริหารและครูไม่ทันตระหนัก อาจไม่ยอมลดความคาดหวัง  ที่คาดหวังว่าเด็กจะต้องเกิดการเรียนรู้เหมือนที่เรียนที่โรงเรียน หรือหากเด็กทำกิจกรรมไม่สำเร็จ ถือว่าเป็นความผิดเป็นความไม่สำเร็จ โดยไม่ได้คำนึงถึงบริบทของเด็กและครอบครัว

P.E.R.M.A Framework กับการจัด Home – Based Learning

P Positive Emotions อารมณ์ที่มีความสุข เบิกบาน พึงพอใจ มีความสงบ มีความหวัง มีแรงบันดาลใจ มีความรักในสิ่งที่ทำอยู่ เป็นอยู่ อารมณ์ที่ดีมีความสุขมีความสำคัญต่อการเรียนรู้ โดยเฉพาะ Active Learning และการทำงานของสมอง ในการทำ HBL ทั้งเด็ก ครู และพ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องมีอารมณ์ที่บวก มีการสร้างประสบการณ์ให้เกิดอารมณ์เชิงบวก

E Engagement การมีส่วนร่วม พ่อแม่มีส่วนร่วมในการจัด HBL โดยคำนึงถึงระดับอายุของเด็กด้วยว่าวัยใดพ่อแม่ควรเข้าไปช่วยหรือมีส่วนร่วมได้มากน้อยเพียงใด

R Relationship การสร้างความสัมพันธ์เชิงบวก ระหว่างครูกับผู้ปกครอง ครูกับเด็ก รวมทั้งความสุขภายในครอบครัว มีการสื่อสารพูดคุยกัน ครูต้องคำนึงว่ากิจกรรมที่ครูคิดนั้นจะกระทบความสัมพันธ์หรือไม่ เช่น ทำให้พ่อแม่ต้องเคี่ยวเข็ญให้ลูกทำกิจกรรม หรือพ่อแม่รู้สึกเป็นภาระ โรงเรียนควรพูดคุยหาทางช่วยเหลือพ่อแม่ ลดความคาดหวังกับการทำกิจกรรมของเด็ก

M Meaningful การวางแผนจัดกิจกรรมให้เด็ก หรือการเล่นของเด็กต้องมีความหมาย มีเป้าหมาย ทางโรงเรียนต้องสื่อสาร เชื่อมโยงให้พ่อแม่มองเห็นความหมายในกิจกรรมที่ลูกจะทำหรือในการเล่นของลูก

A Achievement เด็กรู้สึกทำได้สำเร็จ และพ่อแม่ผู้ปกครองก็รู้สึกด้วยเช่นกัน โดยครูถ่ายทอดความรู้เรื่องพัฒนาการและเทคนิคในการสื่อสารเชิงบวกให้พ่อแม่ เช่น “ลองใหม่ลูก” “แม่เห็นหนูตั้งใจนะ” โดยให้พ่อแม่สังเกตสีหน้าท่าทาง อารมณ์ความรู้สึกของลูก แล้วสื่อสารให้กำลังใจ สร้างแรงบันดาลใจ การที่พ่อแม่ได้ส่งรูปลูกมาให้คุณครูดูก็สร้างความรู้สึกว่าสำเร็จให้พ่อแม่ด้วย

ในการทำกิจกรรม เน้นกระบวนการที่เป็นไปตามกรอบ P.E.R.M.A มากกว่าผลที่ได้ คือเด็กทำอย่างมีความสุข พ่อแม่มีส่วนร่วม เป็นกิจกรรมที่มีเป้าหมาย มีความหมายต่อตัวเด็ก เด็กรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ทำ พ่อแม่รู้สึกดีกับการทำกิจกรรม HBL ร่วมกับลูก ดังนั้นครูจึงลดความคาดหวังในเรื่องผลการเรียนรู้ เพื่อให้พ่อแม่ลดความเครียดในการพาลูกทำกิจกรรม


เรียบเรียง : ผาณิต บุญมาก
บรรณาธิการ : ภาวนา อร่ามฤทธิ์
สถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป)