Home – Based Learning การสร้างความรู้สึกสนุกให้เด็กเป็นเรื่องสำคัญ
การจัด Home – Based Learning ที่ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่แท้จริงและเกิดการพัฒนาทักษะสมอง EF ต้องเป็นการเรียนที่เด็กได้เรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติและเป็น Active Learning สำหรับเด็กเล็กนั้น แรงกระตุ้นให้เด็กเกิด Active Learning ได้ดีที่สุด คือความสนุก เหมือนเด็กได้เล่นสนุกโดยไม่รู้ตัวว่ากำลังเรียนรู้ ดังที่อาจารย์บุศรา เอี่ยมปี (ครูอุ๋ม) รองผู้อำนวยการ ฝ่ายวิชาการ/วิจัยด้านอนุบาลโรงเรียนสาธิตพัฒนา ได้กล่าวไว้เมื่อมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับสถาบัน RLG ว่า “เมื่อเด็กสนุก ก็จะรู้สึกดีกับการเรียนรู้ตามมา”
โรงเรียนสาธิตพัฒนามีวิธีการต่างๆ สร้างความรู้สึกสนุกให้เด็กดังนี้
ใช้ตัวการ์ตูนดึงดูด สร้างความน่าสนใจ
ดังนั้นสื่อการเรียน ตารางกิจกรรมเรียนรู้ คู่มือกิจกรรม สมุดกิจกรรมทั้งหมดจึงถูกออกแบบโดยใช้ธีมตัวการ์ตูนซึ่งแต่ละระดับชั้นเรียนใช้ตัวการ์ตูนต่างกันไป เพื่อสร้างความน่าสนใจและให้ความรู้สึกสนุกแก่เด็กๆ รวมทั้งใช้ตัวการ์ตูนในการสร้างสตอรี่หรือเรื่องราว เพื่อนำเข้าสู่กิจกรรมเรียนรู้ทั้งหลาย
ออกแบบกิจกรรมเรียนรู้ให้มีสตอรี่หรือเรื่องราวที่เด็กๆ สนใจ
กว่าจะออกมาเป็นกิจกรรมสนุกๆ ให้เด็กได้เรียนรู้ ต้องผ่านการทำงานอย่างซับซ้อนของครู ก่อนอื่นครูต้องคัดสรรเนื้อหาสาระว่าเด็กในวัยนี้ควรเรียนรู้อะไร มีหน่วยการเรียนรู้อะไร เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับชีวิตเด็กอย่างไร แล้วออกแบบกิจกรรมและใส่ความสนุกเข้าไปในกิจกรรม สำหรับโรงเรียนสาธิตพัฒนาใส่ความสนุกโดยออกแบบกิจกรรมให้เป็นภารกิจตามธีมต่างๆ ซึ่งแต่ละระดับชั้นมีธีมและภารกิจที่แตกต่างกันไป เด็กๆ จะสนุกไปกับการทำกิจกรรมและภาคภูมิใจเมื่อพิชิตภารกิจลุล่วง
ตัวอย่างเช่น ในชั้นอนุบาล 2 หน่วยการเรียนร่างกายของหนู จะใช้ธีมรามเกียรติ์ ภารกิจคือตามหานางสีดา กิจกรรมมีตั้งแต่การสร้างทัพ คือการแนะนำสมาชิกในห้อง ให้เด็กแนะนำตัวเอง เด็กๆ ต้องสำรวจตัวเองว่ามีความถนัด มีจุดเด่นอย่างไร มีความสามารถอะไรบ้าง แล้วให้โจทย์ที่ท้าทายผูกเป็นเรื่องราวเป็นสตอรี่ในแต่ละสัปดาห์ เช่น ตัวละครต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด ซึ่งแพร่เชื้อโดยนนทุกที่ชอบชี้นิ้ว เอานิ้วเข้าจมูกเข้าปาก ทำให้ได้รับเชื้อโรค เป็นต้น
คุณครู “จัดเต็ม” เพื่อลูกศิษย์ที่รัก
เวลาสอนหรือทำคลิปเรียนรู้ คุณครูจะ “จัดเต็ม” ทั้งเครื่องแต่งกายและลีลาการสอนการแสดงออกที่เร้าใจสอดคล้องกับสตอรี่หรือเรื่องราวในกิจกรรม เพื่อสร้างความน่าสนใจ แรงบันดาลใจ ดึงดูดเด็กๆ ให้อยากทำกิจกรรม
ขณะเดียวกันก็เป็นแรงขับให้ครูมีความสุข สนุกกับการสอนด้วย ซึ่งรอยยิ้มๆ ของเด็กๆ เป็นแรงบันดาลใจให้ครูอยากสร้างสรรค์ต่อไป เป็นการกระตุ้นทักษะสมอง EF ของทั้งครูและเด็ก
นี่เองที่ทำให้ HBL เป็นการเรียนรู้ที่แสนสนุก และผู้ปกครองไม่ต้องห่วงว่าเด็กจะติดจอ แต่เด็กจะติดการทำกิจกรรมกับคุณครูมากกว่า
Home – Based Learning สร้างสัมพันธภาพใหม่ระหว่างโรงเรียน – บ้าน
ในสถานการณ์โควิดที่โรงเรียนต่างๆ ต้องจัด Home – Based Learning นอกจากเป็นช่วงเวลายากลำบากของการจัดการศึกษาที่ทุกคนทุกฝ่ายต้องปรับตัวอย่างมาก HBL ยังทำให้เกิดสัมพันธภาพใหม่ระหว่างโรงเรียน – บ้านด้วย
ในการจัด HBL ที่ฐานการเรียนรู้ของเด็กเปลี่ยนไปอยู่ที่บ้าน ผู้ปกครองต้องรับภาระมากขึ้น ขณะเดียวกันโรงเรียนและครูก็พยายามอย่างหนักที่จะค้นหาแนวทางทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยพยายามสนับสนุนช่วยเหลือพ่อแม่ผู้ปกครองให้สามารถดูแลลูกให้เกิดการเรียนรู้พัฒนามากที่สุด โรงเรียนและบ้านจึงต้องใกล้ชิดกันมากขึ้น เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลกันมากขึ้น นี่เองที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนและบ้านเปลี่ยนไป
พ่อแม่ผู้ปกครองบางส่วนอาจเห็นว่าโรงเรียนผลักภาระให้ทางบ้าน แต่หากโรงเรียนสามารถสื่อสารแสดงความจริงใจที่จะสนับสนุนช่วยเหลือ ยืดหยุ่นให้ผู้ปกครองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก็จะสร้างความรู้สึกที่ดีให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองได้ อาจจะเกิดปัญหาต่างๆ บ้าง เช่นการขัดข้องทางเทคนิค ก็ช่วยเหลือแก้ปัญหา เรียนรู้ไปด้วยกัน ลดการเรียกร้องความสมบูรณ์แบบจากกันและกัน มีการเปิดใจกว้างต่อกัน
ดังเช่นโรงเรียนอนุบาลเปล่งประสิทธิ์ที่มีความพยายามจะสร้างความเข้าใจ ให้ความช่วยเหลือสนับสนุนผู้ปกครองหลายๆ ด้านด้วยกัน คือ
- สำรวจความพร้อมของทางบ้าน ก่อนอื่นสำรวจว่าใครเป็นผู้ดูแลจัดการให้เด็กได้เรียน HBL ซึ่งพบว่า 80% เป็นพ่อแม่ ที่เหลือเป็นปู่ย่าตายายและพี่เลี้ยง แต่พ่อแม่ 80% นั้นก็ไม่ได้มีความพร้อมที่จะดูแลให้ลูกได้เรียน HBL เสมอไป
- ขยายช่องทางเรียนรู้ให้มากที่สุด ทั้งทาง ZOOM, Google Classroom, Facebook กลุ่มปิด, Line กลุ่ม, TikTok เพื่อตอบสนองพ่อแม่ผู้ปกครองที่ไม่สามารถจัดให้ลูกเรียนออนไลน์ทาง ZOOM ตามเวลาที่กำหนดได้ ให้สามารถพาลูกเรียนรู้ ทำกิจกรรมในช่องทางอื่นในเวลาที่สะดวก
- โรงเรียนจัดส่งตารางเรียนให้ผู้ปกครองล่วงหน้า 2 สัปดาห์ (ครูวางแผนการเรียนล่วงหน้า 1 เดือน) เพื่อให้ผู้ปกครองได้เตรียมเด็ก เตรียมอุปกรณ์ นอกจากนั้นยังแจ้งจุดประสงค์ของการทำกิจกรรมแต่ละกิจกรรมว่าเด็กได้เรียนรู้อะไร พัฒนาอะไรบ้าง ทำให้พ่อแม่ได้เรียนรู้ไปด้วย
- ยืดหยุ่นเรื่องการประเมินผล ไม่เน้นเรื่องการวัดผลหรือการสอบ แต่ดูพัฒนาการของเด็กซึ่งอิงกับเกณฑ์พัฒนาการจากบันทึกผลการเรียนรู้ของเด็ก ที่บันทึกโดยคุณครูระหว่างทำกิจกรรม และจากการพูดคุยกับผู้ปกครอง โดยทุกวันศุกร์หลังเลิกเรียนแล้ว ครูจะประชุมกับฝ่ายวิชาการเพื่อรายงานเรื่องเด็กในการเข้า ZOOM
- มีการสื่อสารพูดคุยกับผู้ปกครองทั้งระดับชั้นและรายบุคคล เพื่อดูพัฒนาการของเด็ก และรับฟังความคิดเห็น ปัญหา ให้ความช่วยเหลือผู้ปกครอง สำหรับเด็กเนิร์สเซอรี่ครูติดตามพูดคุยกับผู้ปกครองทุกสัปดาห์ ส่วนเด็กระดับชั้นอื่นครูจะคุยกับผู้ปกครองทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์
สัมพันธภาพที่ดีระหว่างบ้านและโรงเรียนนี่เองที่จะเป็นพื้นฐานให้เด็กๆ เกิดการเรียนรู้ที่ดี มีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้ และทำให้ Home – Based Learning เป็นการเรียนที่มีประสิทธิภาพ
เรียบเรียง : ผาณิต บุญมาก
บรรณาธิการ : ภาวนา อร่ามฤทธิ์
สถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป)