ผลลัพธ์ปลายทางของการจัดการเรียนรู้

Home – Based Learning

ผลลัพธ์ที่ 1 เด็กได้รับการเรียนรู้และพัฒนา ได้รับการเรียนรู้ที่เข้มข้นกว่าการที่พ่อแม่จัดกิจกรรมด้วยตัวเองด้วยลำพัง ซึ่งปฐมวัยเป็นช่วงของการพัฒนาแบบสูงสุด และเป็นโอกาสทองของชีวิตที่ผ่านแล้วผ่านเลย ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 8 ปี


เพราะเด็กไม่เคยหยุดโต หรือรอโควิดจากไปแล้วค่อยมาเร่งเรียนรู้
แต่ห้วงเวลาที่หายไปของเด็ก คือห้วงเวลาที่สำคัญ
ไม่ว่าโควิดจะอยู่นานแค่ไหน การเรียนรู้ของเราก็ต้องดำเนินต่อไป
อย่างมีคุณภาพเท่าที่จะทำได้

ผลลัพธ์ที่ 2 พัฒนาความรู้และทักษะใหม่ให้พ่อแม่ ทักษะสำคัญที่พ่อแม่ควรได้รับการพัฒนา ไม่ใช่เพียงความสามารถในการจัดกิจกรรมให้กับลูกเท่านั้น แต่หมายถึงการที่พ่อแม่ได้รับการฝึกฝนทักษะการสังเกต การติดตามความก้าวหน้าของลูกด้วย และเมื่อครูถอดรหัสการเรียนรู้ให้พ่อแม่ จะเห็นว่าการที่เด็กออกมาช่วยกันคัดแยกสิ่งของที่อยู่ในบ้าน ลองจัดหมวดหมู่สิ่งของที่อยู่ในบ้าน สิ่งของที่เป็นสีเดียวกัน สิ่งของที่เป็นขนาดเดียวกัน สิ่งของที่มีวัสดุเหมือนกันหรือต่างกัน หรือหัดนับจำนวนรองเท้าของพ่อแม่ เหล่านี้คือทักษะในการจัดกระบวนการเรียนรู้ ที่พ่อแม่สามารถเรียนรู้ได้ว่ากิจกรรมแต่ละกิจกรรมที่ทำไปนั้น ลูกของเราได้เรียนรู้อะไร นี่คือสิ่งสำคัญ เพราะพ่อแม่อาจมองไม่ครบถ้วน ประเด็นสำคัญคุณครูจึงต้องช่วยพ่อแม่ในการถอดรหัส ชวนคิดทบทวนดู เช่น กิจกรรมแบบนี้ เด็กๆ ได้เรียนรู้ตามหลักคณิตศาสตร์ เป็นต้น มีกิจกรรมมากมายที่คุณครูจะช่วยถอดรหัสการเรียนรู้หรือสะท้อนผลการเรียนรู้ให้กับพ่อแม่

ขณะเดียวกันระหว่างที่เราพัฒนาพ่อแม่ไปบนกระบวนการทำงานคือการจัดกิจกรรมให้กับลูก คุณครูสามารถแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการตั้งคำถามที่กระตุ้นการเรียนรู้ วิธีการเสริมกำลังใจ เพราะฉะนั้นกระบวนการเหล่านี้ เป็นกระบวนการที่ครูค่อยๆ เติมความรู้บนหน้างานของพ่อแม่ นับว่าคุณครูได้ทำสิ่งที่วิเศษที่สุดของการใช้วิชาชีพของครูในการพัฒนาพ่อแม่

ผลลัพธ์ที่ 3 สัมพันธภาพที่ดีเพิ่มความเคราพนับถือ คุณครูเป็นผู้ที่อยู่เคียงข้างพ่อแม่ ในขณะเดียวกัน คุณครูใช้วิชาชีพของตนเองอย่างเต็มประสิทธิภาพเพื่อทำงานกับพ่อแม่ เป็นโอกาสสำคัญในการที่พ่อแม่ได้รับรู้ว่า คุณครูมีความมุ่งมั่นตั้งใจจริงที่จะช่วยเหลือพัฒนาลูก ความความรักความเอาใจใส่ที่คุณครูมีให้แก่เด็ก จะส่งผ่านไปถึงใจของพ่อแม่ ความเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน ไม่ได้อยู่แค่ช่วงเวลาที่ลูกเขาอยู่กับคุณครูเท่านั้น แต่หมายถึงว่าเมื่อเวลาผ่านไป สัมพันธภาพนี้จะยืนยาวต่อไปเรื่อยๆ เพราะจะมีคนสองคน คือพ่อแม่และครู ที่คอยเฝ้าติดตามการเติบโตงอกงามของเด็กคนเดียวกันนั่นเอง

ผลลัพธ์ที่ 4 พัฒนาจิตใจ พัฒนาวิชาชีพ ทักษะ สมรรถนะ มีครูจำนวนมากที่ไม่คุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีหรือสื่อสารกับพ่อแม่ทางออนไลน์ อันนี้เป็นประเด็นสำคัญ คุณครูจะได้พัฒนาทักษะที่จะอยู่ในโลกข้างหน้า แน่นอนคุณครูหลีกเลียงไม่ได้ ขณะเดียวกันสิ่งที่กำลังพัฒนาขึ้นก็คือการพัฒนาจิตใจของครูเอง


ในการจัดการเรียนรู้แบบ HBL คุณครูต้องเผชิญกับความไม่เข้าใจของพ่อแม่
ว่า…ทำไมคุณครูจะต้องเอาภาระการจัดกระบวนการเรียนรู้ของเด็กมาให้ตนเอง
แต่เมื่อคุณครูสื่อสาร ยืนเคียงข้าง เอาผลลัพธ์ของเด็กเป็นตัวตั้ง

พ่อแม่จะค่อยๆ เข้าใจว่าสิ่งที่เขาเรียนรู้
สิ่งที่เขาพัฒนาตัวเองนั้น ได้มาจากความเป็นมืออาชีพของครู
สุดท้ายสัมพันธภาพที่ดีต้องก่อเกิดแน่นอน

ขณะเดียวกันจะเพิ่มความเคารพนับถือซึ่งอยู่ในประเด็นที่ 3 นั่นเอง เหล่านี้เป็นผลลัพธ์ปลายทางที่เกิดขึ้น แล้วยกระดับวิชาชีพของคุณครูได้อย่างงดงาม และเป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาเด็กอย่างแท้จริง