พ่อแม่ ผู้ปกครอง พร้อมแค่ไหนกับ Home-Based Learning

พ่อแม่ ผู้ปกครอง พร้อมแค่ไหนกับ Home-Based Learning

การจัดการเรียนรู้ Home-Based Learning ให้ได้ผล ความพร้อมของพ่อแม่ ผู้ปกครองมีส่วนสำคัญ เพราะตอนนี้พ่อแม่ ผู้ปกครอง เป็นคนที่อยู่กับเด็ก และมีบทบาทช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็ก เช่น ช่วยจัดเวลาให้เด็กมาอยู่หน้าจอ อำนวยความพร้อมให้เด็กได้ทำกิจกรรมตามที่ครูมอบหมาย ช่วยจัดหาวัสดุอุปกรณ์ ร่วมสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กอยากเรียนรู้ รวมถึงร่วมเรียนรู้ไปกับลูก  พ่อแม่ ผู้ปกครองจะทำสิ่งเหล่านี้ได้ดีแค่ไหนย่อมขึ้นอยู่กับบริบทแต่ละครอบครัวด้วย

โรงเรียนที่จัด Home-Based Learning ตระหนักเรื่องนี้ดี ดังที่เป็นประเด็นแลกเปลี่ยนความรู้ในหัวข้อ “เทคนิคการจัด Home-Based Learning ให้เป็น Active Learning และส่งเสริมEF EP. 3” ทาง ZOOM ที่สถาบัน RLG ได้จัดขึ้น

อาจารย์สลิลดา ทศานนท์ ผู้จัดการโรงเรียนอนุบาลสุดารักษ์ เล่าว่า “เมื่อจะส่งการเรียนรู้ไปที่บ้าน ก่อนอื่นโรงเรียนต้องการทราบความพร้อมของผู้ปกครอง อยากรู้ว่าใครคือผู้ดูแลหลักที่บ้าน” จึงทำการสำรวจบริบทของพ่อแม่ผู้ปกครองก่อนจะออกแบบการเรียนรู้

และจากการสำรวจพบว่า ผู้ปกครองหรือพ่อแม่ส่วนใหญ่ทำงานทั้งคู่ มีญาติผู้ใหญ่ดูแลเด็กในช่วงจันทร์-ศุกร์ หรือเด็กอยู่กับพี่เลี้ยง หรือพ่อกับแม่สลับกันดูแลบ้าง บางบ้านพ่อแม่ต้องไปทำงานต่างจังหวัด ฝากลูกให้ปู่ย่าตายายดูแล เพราะฉะนั้นการเรียนออนไลน์แบบ Real Time จึงทำได้อย่างจำกัด การเรียนผ่าน ZOOM ที่ต้องมาประชุมพร้อมๆ กันเป็นเรื่องยาก หากจะทำต้องมีการเตรียมการกับพ่อแม่ผู้ปกครองล่วงหน้า

ผลสำรวจพบว่าช่องทางการสื่อสารที่พ่อแม่สะดวกใช้มากที่สุดคือ Line ไม่ค่อยใช้ Facebookและ ZOOM

อาจารย์สลิลดากล่าวว่าได้ทดลองใช้ ZOOM แล้วพบว่าใช้งานได้ดี ส่งต่อการเรียนรู้ได้ดีพอสมควร แต่พอสำรวจความพร้อมของผู้ปกครองแล้วพบข้อจำกัด ต้องมาทบทวนกันใหม่  ในเมื่อต้องการให้การเรียนรู้ไปถึงเด็กๆ อย่างทั่วถึงทุกคน ก็ต้องเลือกช่องทางที่ทุกคนเข้าถึงได้  ดังนั้นในที่สุดจึงเลือกรูปแบบการสื่อสารความรู้เป็นลักษณะของคลิปวิดีโอที่แต่ละบ้านสามารถเข้ามาดูเวลาใดก็ได้ สามารถใช้ช่องทางสื่อสารที่พ่อแม่สะดวกได้ ไม่ว่า Line หรือ Facebook และมีกิจกรรมท้ายคลิปที่ครูชวนเด็กๆ ทำกิจกรรมสนุกๆ ที่ทำให้เด็กเรียนรู้พัฒนา

หลักคิดในการออกแบบคลิปและกิจกรรมท้ายคลิป

ในการออกแบบคลิปและกิจกรรมท้ายคลิป โรงเรียนอนุบาลสุดารักษ์มีหลักการที่ทำให้ครูเข้าใจตรงกันว่า

  • คลิปต้องใช้เวลาสั้น ตรงกับวัตถุประสงค์ ชัดเจน เหมาะสมกับวัย
  • เด็กมีส่วนร่วม ได้ลงมือทำ (Active Learning)
  • ใช้สื่อการเรียนรู้ที่มีที่บ้าน
  • กิจกรรมต้องมีความยืดหยุ่น เผื่อทางเลือกเสมอ เช่น ถ้าไม่มีวัสดุอุปกรณ์อย่างนี้ ก็ใช้อย่างอื่นทดแทนได้ เป็นต้น

บ้าน แหล่งเรียนรู้สำคัญในช่วงโควิด

ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่เด็กๆ ต้องกักตัวอยู่กับบ้าน เด็กอาจเบื่อและเครียด พ่อแม่ ผู้ปกครองก็กังวลว่าลูกจะขาดโอกาสในการเรียนรู้พัฒนา  หากมองในแง่ของโอกาส ที่บ้านก็มีอะไรมากมายให้ใช้ประโยชน์เพื่อการเรียนรู้ของเด็ก รวมทั้งเด็กๆ สามารถมีกิจกรรมสนุกๆ แก้เบื่อ คลายเครียดได้มากทีเดียว

มีตัวอย่างกิจกรรม Home-Based Learning จากโรงเรียนอนุบาลสุดารักษ์และโรงเรียนอนุบาลมณีรัตน์ ที่ทำให้เห็นว่าบ้านเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของเด็กๆ  มีทรัพยากรทั้งในเรื่องวัสดุอุปกรณ์บุคคล ที่จะทำให้เด็กเรียนรู้พัฒนา ได้ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์แถมสนุกด้วย คุณพ่อคุณแม่คุณครูลองนำไปใช้ดู และใช้เป็นแนวทางในการคิดค้นกิจกรรมอื่นๆ ต่อไป

งานบ้าน หนูทำได้

เป็นกิจกรรมที่ให้เด็กทำงานบ้านช่วยคุณพ่อคุณแม่ แล้วถ่ายรูปหรือคลิปมาอวดกัน กิจกรรมนี้จะทำให้ได้เห็นบริบทที่บ้านของเด็กๆ  คุณพ่อคุณแม่หันมาเห็นความสำคัญของการให้ลูกช่วยทำงานบ้าน เพราะบางบ้านไม่เคยให้เด็กได้ทำอะไรเลย คุณพ่อคุณแม่ได้เห็นทักษะของลูก ความเปลี่ยนแปลง ความรับผิดชอบ และสร้างทัศนคติที่ดีให้เด็กว่าการทำงานบ้านเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม ทำให้เด็กยิ่งอยากทำ ช่วยสร้าง Self ให้เด็ก เด็กภาคภูมิใจที่ทำได้ ได้ช่วยเหลือผู้ใหญ่ เด็กได้พัฒนาทักษะสมอง EF

เกมตามหาใบไม้

ให้เด็กตามหาว่าใบไม้ที่คุณพ่อคุณแม่เก็บมา เป็นใบของต้นอะไร เด็กๆ เที่ยวนำใบไม้ไปเปรียบเทียบกับต้นไม้ต่างๆ ในบ้าน ให้เด็กหาใบไม้ในบ้านมา 3 ขนาด เล็ก กลาง ใหญ่ แล้วเอามาสร้างสรรค์ วาดภาพต่อเติม

สำรวจสมาชิกในบ้าน

ให้เด็กสำรวจสมาชิกในบ้านว่ามีกี่คน ผู้หญิงกี่คน ผู้ชายกี่คน และในบ้านมีใครบ้าง แล้ววาดภาพ

นิ้วมือฉันคือใครในบ้าน

ให้เด็กวาดนิ้วมือ ถามเด็กๆ ว่าแต่ละนิ้วเปรียบเสมือนสมาชิกในบ้านคนไหน  กิจกรรมนี้ต้องการเห็นความคิดของเด็กว่าเขาแยกแยะคนในบ้านอย่างไร เด็กคนหนึ่งบอกว่าที่บ้านมีสมาชิก 4 คน นิ้วโป้งคือเทวดาที่คุ้มครองครอบครัว ถ้าไม่มีเทวดา ครอบครัวของเขาก็จะไม่มีความสุข นิ้วชี้คือพ่อ เพราะพ่อคือหัวหน้าครอบครัว นิ้วกลางคือแม่ เพราะแม่เกิดเป็นคนที่สองของบ้าน นิ้วนางคือพี่ นิ้วก้อยคือตัวเองที่เกิดเป็นคนสุดท้ายของบ้าน เด็กอีกคนบอกว่า นิ้วโป้งคือตัวเองเพราะเขาเป็นมีใบหน้าใหญ่ นิ้วชี้คือแม่เพราะแม่สูงรองจากพ่อ พ่อคือนิ้วกลางสูงที่สุด นิ้วนางคือคุณยายเพราะสูงรองจากแม่ นิ้วก้อยคือน้องเล็กเพราะตัวเล็กสุด จะเห็นว่าเด็กคนแรกแยกแยะโดยใช้ลำดับการเกิด ส่วนอีกคนแยกแยะโดยใช้ขนาดส่วนสูง


มาสนุกกับโควิดกันเถอะ

ในระหว่างช่วงโควิด-19ที่ทุกคนดูเหมือนจะเครียดกันไปหมด แต่ธรรมชาติของเด็กก็ยังอยากเล่นสนุก มีความสุขทุกวัน เพื่อไม่ให้เด็กๆ มองโลกในแง่ร้ายเกินไป มีกิจกรรมที่ทำให้เด็กๆ สนุกได้ได้เรียนรู้เรื่องโควิดซึ่งเป็นสถานการณ์ที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของเด็กๆ เองด้วย และมีความหวังว่าไม่นานก็จะได้ออกจากบ้านไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ อีกครั้ง

Monster โควิด

ให้ความรู้เด็กๆ เกี่ยวกับโควิด และเพื่อให้เด็กไม่กลัวจนเกินไป จึงให้เด็กทำกิจกรรม Monster ครูจัดเตรียมกระดาษลังที่ตัดริมเป็นแฉก ไหมพรม และเศษกระดาษไปให้เด็กสร้างสรรค์ตุ๊กตา Monsterโดยใช้ไหมพรมสีต่างๆ พันเกี่ยวไปตามร่องกระดาษแฉกๆ ไปมา ตกแต่งปาก ตาด้วยกระดาษ

หมดโควิดแล้วหนูอยากไปเที่ยวที่ไหน

ให้เด็กๆ บอกสถานที่ที่อยากไปเที่ยวเมื่อหมดโควิดแล้ว และให้จัดของลงในกระเป๋าเดินทาง

กิจกรรมนี้ต้องการให้เด็กรู้จักดูแลรับผิดชอบตัวเอง เช่นถ้าจะไปเที่ยวก็จัดกระเป๋าเอง และรู้สึกมีความสุขที่ได้นึกถึงการไปเที่ยว

มาทำสายคล้องแมสก์กัน

ให้เด็กทำสายคล้องแมสก์  ครูส่งห่วงที่คล้องต่อกันได้ไปให้เด็กๆ แยกสี และออกแบบสายคล้องแมสก์ กำหนดขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้เด็กรู้จักวางแผน ยับยั้งชั่งใจ ไม่ลงมือทำโดยไม่ฟังรายละเอียดของโจทย์ แล้วให้ต่อห่วงตามที่ออกแบบไว้ แถมยังเป็นกิจกรรมที่เด็กนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน

เรียบเรียง : ผาณิต บุญมาก
บรรณาธิการ : ภาวนา อร่ามฤทธิ์
สถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป)