Home-Based Learning อย่างไร
ให้ผู้ปกครองเข้าใจและยินดีให้ความร่วมมือ
การจัด Home-Based Learning เป็นเรื่องใหม่ทั้งสำหรับครูและผู้ปกครอง โจทย์ที่ต้องขบคิด คือ ทำอย่างไรให้การเรียนผ่านจอของเด็กๆ เป็น Active Learning เหมือนเรียนที่โรงเรียน โรงเรียนและคุณครูหลายๆ โรงเรียนพยายามคิดค้นออกแบบกระบวนการเรียนรู้กันอย่างหนัก และต่างเห็นว่า พ่อแม่ ผู้ปกครองคือบุคคลสำคัญที่จะสนับสนุนให้ลูกได้เรียนรู้ผ่านจอแบบ Active Learning ได้สำเร็จ
แต่ทำอย่างไรพ่อแม่ผู้ปกครองจะยินดีให้ความร่วมมือ ในขณะที่เผชิญภาระหนักหลายด้านในสถานการณ์โควิด
ในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้ที่จัดโดยสถาบัน RLG ผู้บริหารโรงเรียนต้นกล้า เชียงใหม่ และผู้บริหารโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา พระนครศรีอยุธยา ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า โรงเรียนต้องสื่อสารกับพ่อแม่ ผู้ปกครองอยู่เสมอ และต้องให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนพ่อแม่ ผู้ปกครองเพื่อให้กระบวนการเรียนรู้ Home-Based Learning เป็นไปด้วยดี เด็กๆ เกิดการเรียนรู้ที่ดี
แล้วจะสื่อสารอย่างไร ผู้ปกครองถึงจะเข้าใจและเห็นด้วยว่าต้องร่วมมือกัน
อาจารย์กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ประธานกรรมการบริหารโรงเรียนต้นกล้า กล่าวว่าทางโรงเรียนจะสื่อสารกับพ่อแม่เสมอว่า “โรงเรียนมองว่าพ่อแม่ไม่ใช่คุณครู แต่เป็นพ่อแม่ที่คอยสนับสนุนเด็กๆ ส่วนครูออกแบบการเรียนรู้และสนับสนุนคุณพ่อคุณแม่”
“ทุกครั้งที่มี Parent Meeting เราจะบอกว่า บ้านและโรงเรียนคือฐานการเรียนรู้ที่สำคัญของลูก บ้านและโรงเรียนคือฐานของสามเหลี่ยม เด็กคือยอดของสามเหลี่ยม ดังนั้น เรื่องการเรียนรู้ของลูกจึงไม่ใช่หน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เป็นงานที่โรงเรียนและบ้านต้องทำร่วมกัน เมื่อ่ใดที่การทำงานของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเอียง เด็กที่อยู่ยอดบนของสามเหลี่ยมก็จะเอียงไปด้วย”
“โรงเรียนสื่อสารเรื่องนี้พร้อมพยายามอำนวยความสะดวกให้กับบ้านที่มีบริบทแตกต่างกันไป เช่น ไม่จำเป็นต้องออนไลน์ตามเวลาที่กำหนด เพราะมีวิดีโอที่คุณพ่อคุณแม่จะดูและทำกิจกรรมตอนไหนก็ได้ โรงเรียนให้ mission ที่คุณพ่อคุณแม่นำไปปรับทำกับลูกอย่างไรก็ได้ โดยใช้เวลาสั้นๆ ที่เป็นเวลาคุณภาพกับลูก พ่อแม่ทำกิจกรรมกับลูก ส่วนโรงเรียนช่วยเหลือเรื่องอุปกรณ์และกำหนดใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่ที่บ้าน หากขัดข้องอย่างไรก็สื่อสารกับทางโรงเรียนได้”
สำหรับ ดร.สุธาทิพ ไชยรัตนะ ผู้อำนวยการโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา เล่าว่า “โรงเรียนจะคอยส่งรูป ส่งข่าวสาร คลิป สื่อสารกับผู้ปกครองตลอดเวลา และให้คุณครูติดตามพูดคุย เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดี โดยเฉพาะเด็กที่ผู้ปกครองไม่ค่อยมีเวลา ไม่ค่อยมีความพร้อม ครูยิ่งต้องติดตามใกล้ชิด สื่อสารให้ผู้ปกครองได้รับทราบว่า ครูทำงานกันอย่างหนัก ทั้งทำสื่อการเรียนรู้ และทำคลิปการเรียนรู้ ซึ่งครูอนุบาลไม่ค่อยมีทักษะ ต้องใช้ความพยายามและพลังอย่างมากในการเรียนรู้ใช้เทคโนโลยี โรงเรียนได้ส่งภาพเบื้องหลังให้ผู้ปกครองได้เห็นความพยายามของครู และเห็นความสำคัญของคลิปและสื่อที่คุณครูจัดทำ จะได้ชวนให้ลูกเปิดดูและทำกิจกรรมร่วมกับลูก”
โรงเรียนสนับสนุน ช่วยเหลือผู้ปกครองอย่างเป็นระบบ
โรงเรียนตระหนักดีว่าพ่อแม่ ผู้ปกครองไม่ใช่ครู และแต่ละครอบครัวมีบริบทที่แตกต่างกันไป จึงต้องคอยสนับสนุน ช่วยเหลือพ่อแม่ นอกจากพยายามเอื้ออำนวยความสะดวกแก่พ่อแม่โดยจัดทำคลิปวิดีโอการเรียนรู้ที่พ่อแม่สามารถเปิดดูและชวนลูกทำกิจกรรมเวลาใดก็ได้แล้ว ยังมีระบบช่วยเหลืออื่นๆ อีก คือ
- จัดทำคู่มือพ่อแม่ ให้ความเข้าใจเรื่องการเรียน Home-Based Learning และรายละเอียดตั้งแต่ด้านการเตรียมสถานที่สำหรับให้ลูกเรียนรู้ การเตรียมใจพ่อแม่ การปรับตัวของลูก รวมถึงตัวอย่างกิจกรรมที่ทำที่บ้านได้ เป็นคู่มือที่จะช่วยให้ HBL ที่บ้านเป็นเรื่องง่ายขึ้น
- ให้ความรู้แก่พ่อแม่ มีการจัด Online Workshop ให้ผู้ปกครองได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคนิค ไอเดียต่างๆ เช่น เทคนิคในการเล่านิทาน หรือครูซึ่งได้รับการอบรมเทคนิคอะไรมาก็นำมาถ่ายทอดให้ผู้ปกครองด้วย รวมทั้งครูให้ข้อแนะนำเกี่ยวกับวิธีทำกิจกรรมกับลูกไว้ตอนท้ายคลิปเรียนรู้
- คุณครูพูดคุยกับผู้ปกครองและนักเรียนเป็นรายบุคคล โรงเรียนต้นกล้ามี “โครงการ 1115” คุณครูให้เวลากับผู้ปกครองวันละ 1 คน เป็นเวลา 15 นาที หมุนเวียนกันไป โทรไปสื่อสาร ถามสารทุกข์สุกดิบ อุปสรรคปัญหาในการเรียนรู้ออนไลน์ของลูก ส่วนโรงเรียนจิระศาสตร์คุณครูวิดีโอคอลไปสร้างปฏิสัมพันธ์กับเด็กและผู้ปกครอง ทำให้โรงเรียนรับทราบปัญหา และให้การช่วยเหลือได้
- สำรวจบริบทของเด็กและครอบครัว โรงเรียนต้นกล้ามีการพบปะกันเป็นรายครอบครัวผ่าน Google Meet ครอบครัวละ 15-20 นาที โรงเรียนจิระศาสตร์สำรวจความพร้อมของบ้านว่ามีข้อจำกัดอะไรบ้าง เช่น สัญญาณอินเทอร์เน็ต เด็กอยู่กับใคร ผู้ที่อยู่กับเด็กสามารถร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ของเด็กหรือไม่
- ให้คำปรึกษาและช่วยแก้ปัญหาข้อขัดข้องทางเทคนิค หากทางบ้านมีปัญหาขัดข้องอะไรในการเรียนออนไลน์ หรือบางบ้านเด็กอยู่กับปู่ย่าตายายที่ไม่ถนัดเรื่องเทคโนโลยี โรงเรียนยินดีให้คำแนะนำ รวมถึงอาจเดินทางไปแก้ปัญหาให้ถึงบ้าน
เหล่านี้เป็นกระบวนการ ที่เอื้อให้เกิดความร่วมมืออันดีระหว่างบ้านและโรงเรียน รวมทั้งสร้างความเข้าใจให้กับพ่อแม่ถึงบทบาทของตัวเองและบทบาทของโรงเรียน สร้างทัศนคติดีที่ดีต่อการจัดการเรียน Home-Based Learning ว่าโรงเรียนไม่ได้โยนภาระมาให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง แต่เป็นการร่วมด้วยช่วยกันฉันท์กัลยาณมิตรเพื่อให้ลูกหลานเกิดการเรียนรู้ที่ดี
My First School Day
โครงการที่ทำให้เด็กไปโรงเรียนครั้งแรกผ่านจออย่างมีความสุข
เราคุ้นเคยกับภาพการไปโรงเรียนวันแรกของเด็กๆ ที่คุณพ่อคุณแม่พาลูกมาส่งที่หน้าประตูโรงเรียน ท่ามกลางเสียงร้องไห้กระจองอแงของเด็กๆ แต่เปิดเทอมนี้ในสถานการณ์โควิด เด็กๆ ที่เพิ่งเข้าโรงเรียนเป็นครั้งแรก ต้องไปโรงเรียนโดยผ่านจอเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
แล้วการไปโรงเรียนผ่านจอนี้จะเป็นประสบการณ์ที่เด็กจะจดจำและมีความสุขไหม เป็นคำถามที่เกิดขึ้นกับผู้บริหารโรงเรียนต้นกล้า เชียงใหม่ อาจารย์กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ กล่าวว่า สำหรับเด็กๆ ที่เพิ่งไปโรงเรียนเป็นครั้งแรก การสร้าง “Trust” เป็นสิ่งสำคัญ ทำอย่างไรโรงเรียนจะสร้างความรู้สึกว่าการไปโรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย น่าไว้วางใจให้เด็กได้
ดังนั้น จึงเป็นที่มาของ โครงการ My First School Day ที่โรงเรียนเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองพาลูกก่อนเข้าเรียน และเด็กที่หยุดไปโรงเรียนนานๆ มาทำกิจกรรมที่โรงเรียน โดยจำกัดจำนวนครอบครัว และใช้พื้นที่ภายนอกอาคารเรียนเป็นสถานที่ทำกิจกรรม วัตถุประสงค์เพื่อให้เด็กปรับตัวก่อนเข้าเรียน คุ้นชินกับสถานที่และคุณครู เกิดความไว้วางใจ รู้สึกอุ่นใจ ปลอดภัย โดยโรงเรียนนำไอเดียมาจาก Forest School ในสแกนดิเนเวีย ที่ให้พ่อแม่มาอยู่กับลูกที่โรงเรียนจนเด็กบอกพ่อแม่ว่าไม่ต้องอยู่ด้วยแล้ว มาปรับใช้
แต่เนื่องจากขณะนี้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ เรียกว่า Hybrid Home-Based Learning คือถึงจะเรียนและทำกิจกรรมผ่านจอ แต่โรงเรียนก็ยังพยายามเชื่อมประสบการณ์การเรียนรู้ที่บ้านให้สอดคล้องกับประสบการณ์ที่โรงเรียน ซึ่งพบว่าทำให้ประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็กเป็นไปด้วยดี
ด้วยเหตุนี้โครงการ My First School Day จึงมีขั้นตอนให้เด็กๆ ได้เจอคุณครูทางออนไลน์ก่อน แล้วผู้ปกครองค่อยพาลูกมาทำกิจกรรมที่โรงเรียนเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง ขั้นถัดมาค่อยส่งลูกที่หน้าประตูโรงเรียน
สำหรับเด็กที่มาโรงเรียนเป็นครั้งแรก ซึ่งยังเล็กมากและพ่อแม่มีความกังวลกับการที่เด็กใช้จอ เป็นความท้าทายของโรงเรียนหลายด้าน ทั้งต้องทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง อธิบายเป้าประสงค์ของการจัดกิจกรรมว่าทำไมจึงต้องเป็น HHBL – Hybrid Home-Based Learning ที่ต้องเชื่อมพื้นที่ประสบการณ์ที่บ้านและโรงเรียน
นับว่าเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ปกครองและเด็กในพื้นที่ของโรงเรียนที่มาจากกระบวนการ HHBL – Hybrid Home-Based Learning ผู้ปกครองเชื่อมั่นว่าแม้เด็กๆ จะเรียนรู้ผ่านจอ เรียนรู้ในพื้นที่บ้าน โรงเรียนก็ยังสามารถทำให้เด็กๆ เชื่อมโยงประสบการณ์กับพื้นที่โรงเรียนได้ และเมื่อใดที่โรงเรียนเปิดเรียนเป็นปกติ เด็กๆ จะเชื่อมต่อการเรียนรู้ที่โรงเรียนได้ทันที ส่วนเด็กๆ โครงการนี้ก็สามารถสร้างประสบการณ์การไปโรงเรียนครั้งแรกที่มีความสุขและน่าจดจำได้
เรียบเรียง : ผาณิต บุญมาก
บรรณาธิการ : ภาวนา อร่ามฤทธิ์
สถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป)