Home – Based Learning กับการเรียนรู้พัฒนาสำคัญ…ฐานรากของชีวิต
ในการจัดการแลกเปลี่ยนความรู้ทาง ZOOM ในวันเสาร์ที่ 11 กันยายน2564 ชื่อว่า HBL Highlight Hi…EF อาจารย์ธิดา พิทักษ์สินสุข อุปนายกสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทยฯ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินรายการ Can do ครู EF ได้สรุปความหมายของ Home – Based Learning และการเรียนรู้พัฒนาสำคัญที่เกิดขึ้นจากการจัดกิจกรรมเรียนรู้ Home – Based Learning ไว้ว่า
Home – Based Learning คืออะไร
ด้วยแนวคิด “เด็กอยู่ไหน การเรียนรู้อยู่ที่นั่น” การเรียนรู้ของเด็กเกิดขึ้นได้ ดังนั้นเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด เด็กๆ ไม่สามารถไปโรงเรียนได้ ฐานการเรียนรู้ของเด็กๆ จึงย้ายจากโรงเรียนมาอยู่ที่บ้าน มีการจัดการเรียนรู้แบบที่เรียกว่า Home-Based Learning
รูปแบบของ Home – Based Learning เป็นการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning โดยให้เด็กๆ ที่บ้านได้เกิดการเรียนรู้พัฒนาเป็นการเรียนรู้ที่เด็กจะต้องได้คิด ตัดสินใจ ลงมือทำ มีความกระตือรือร้น รวมทั้งยังต้องมีปฏิสัมพันธ์กัน มีการสื่อสารพูดคุยกัน ระหว่างครูกับเด็ก และเด็กกับเด็ก มีบรรยากาศที่สนุกสนาน เป็นการเรียนรู้ที่มีความหมายต่อเด็ก มีความท้าทาย ส่งเสริมพัฒนาการและ Self ของเด็ก รวมทั้งพัฒนาทักษะสมอง EF
ส่วนกระบวนการจัดการ Home – Based Learning ครูเป็นผู้ออกแบบการเรียนรู้ให้พ่อแม่เป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้ของเด็ก พ่อแม่ได้เรียนรู้ ฝึกฝนการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับลูก ไม่ว่าสถานการณ์ใด HBL หรือการเรียนรู้ที่บ้านเป็นฐานเกิดขึ้นได้ตลอดไป ไม่ใช่เฉพาะในช่วงโควิด
การเรียนรู้พัฒนาสำคัญที่เกิดขึ้นจาก Home – Based Learning
จากการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ในการจัด HBL ของโรงเรียนต่างๆ โดยสรุป HBL ทำให้เด็กได้เรียนรู้พัฒนาหลากหลายด้านด้วยกัน โดยเฉพาะการเรียนรู้พัฒนาที่สำคัญ3 เรื่องหลักๆ อันเป็นฐานรากของการพัฒนาเด็ก ได้แก่ พัฒนาการ ทักษะสมอง EF และ Self
บ่อยครั้งในการพัฒนาเด็กมีการกล่าวถึงแต่พัฒนาการ 4 ด้าน คือ กาย ใจ อารมณ์-สังคม สติปัญญา แต่ไม่ได้พูดเรื่อง Self และทักษะสมอง EF ทำให้เด็กไม่ได้รับการพัฒนาให้เต็มศักยภาพของเขา โดยเฉพาะโลกยุคใหม่ที่เรียกว่า VUCA world (Volatility, Uncertainty, Complexity and Ambiguity) โลกที่มีการเปลี่ยนแปลง ผกผันอย่างรวดเร็ว คาดการณ์ไม่ได้ เด็กควรได้รับการเตรียมความพร้อมที่จะเผชิญกับยุคใหม่นี้ เพราะเด็กที่มีพัฒนาการ 4 ด้านดี Self แข็งแรงจะพร้อมที่จะล้มแล้วลุกขึ้นใหม่ สามารถพยุงใจตัวเองให้มีความสุขได้ นอกจากนั้นเด็กที่มีทักษะสมอง EF ที่ดี ก็จะมีความสามารถในการคิด การตัดสินใจที่ดี
Self คือการเห็นคุณค่าของตัวเอง มีความรู้สึกที่ดีต่อตัวเอง รู้ว่าตัวเองมีความสามารถอย่างไร เด็กจะมี Self ที่ดีได้ต้องมีคนโอบอุ้มให้กำลังใจ ให้การชื่นชม เห็นคุณค่าของตัวเขา จึงจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมาร์ต กล้าคิดกล้าทำ รู้ว่าตัวเองชอบหรือสนใจอะไร Self ยังเป็นตัวผลักดันให้ทักษะสมอง EF ทำงานได้ดีด้วย
ทักษะสมอง EF คือการทำงานของสมองส่วนหน้า ซึ่งทำหน้าที่เสมือน CEO ของสมอง ควบคุมความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมของคนเราให้ไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ ทักษะสมอง EF จะนำพาเด็กก้าวข้ามอุปสรรคทั้งหลายไปสู่ความสำเร็จของชีวิต
3 เรื่องที่กล่าวมานี้ ทั้งพัฒนาการ ทักษะสมอง EF และ Self เป็น 3 มิติสำคัญที่เด็กต้องได้รับการพัฒนาไปด้วยกัน
ทักษะสมอง EF มี 3 กลุ่มทักษะด้วยกัน
กลุ่มทักษะพื้นฐาน ได้แก่ ความจำเพื่อใช้งาน (Working memory) ยั้งคิด ไตร่ตรอง(Inhibitory Control) ยืดหยุ่นความคิด (Shift/Cognitive Flexibility)
กลุ่มทักษะกำกับตัวเอง ได้แก่ จดจ่อใส่ใจ (Focus/Attention) ควบคุมอารมณ์ (Emotional Control) ติดตาม ประเมินตนเอง (Self Monitoring)
กลุ่มทักษะปฏิบัติ ได้แก่ ริเริ่ม ลงมือทำ (Initiating) วางแผน จัดระบบ ดำเนินการ(Planning & Organizing) มุ่งเป้าหมาย (Goal Directed Persistence)
วิเคราะห์ EF จากการจัดกิจกรรม Home-Based Learning
จากการนำเสนอกิจกรรมเรียนรู้ Home – Based Learning ของโรงเรียนต่างๆ ในรายการ Can Do ครู EF ที่ผ่านมาแล้ว 12 ตอนสถาบัน RLG ได้ชวนนักการศึกษามาวิเคราะห์เรื่องการพัฒนาทักษะสมอง EF ที่เกิดขึ้นในการจัดกิจกรรมเรียนรู้บางส่วนโดยสรุปมีประเด็นข้อคิดที่น่าสนใจ ดังนี้
เมื่อไรที่เด็กได้ใช้ความคิด เด็กได้พัฒนา EF แน่นอน ในการจัดกิจกรรมเรียนรู้ครูต้องวางแผนให้มีวิธีการที่เด็กจะได้ใช้ความคิดของตนเองจริงๆ และวางเป้าหมายให้ชัดว่าต้องการพัฒนาทักษะสมอง EF วางแผนกิจกรรมให้รัดกุมว่าเด็กต้องคิดเอง คุณพ่อคุณแม่ไม่ได้คิดให้
จดจ่อใส่ใจแตกต่างจากมุ่งเป้าหมาย ตรงที่มุ่งเป้าหมายต้องมีระยะเวลานานกว่าจดจ่อใส่ใจ และมีสถานการณ์บางอย่างมาเป็นอุปสรรค เช่น ความเหนื่อย ความล้มเหลว ซึ่งทำให้เด็กอาจจะหยุดพัก ท้อ แล้วค่อยกลับมาทำต่อ กิจกรรมเด็กวัยอนุบาลมักมีเป้าหมายระยะสั้น และมักเป็นเป้าหมายที่ครูบอกให้เด็กทำ ครูอาจต้องมีสถานการณ์ที่มุ่งเป้าระยะยาว เพิ่มสถานการณ์บางอย่างที่หันเหความสนใจของเด็ก แล้วดูว่าเด็กยังมุ่งเป้าหมายกลับมาทำต่อหรือไม่
Action กับ Active ไม่เหมือนกัน คำว่า “ลงมือทำ” ไม่ใช่แค่เกิด Action แต่ต้อง Active ด้วย การพัฒนา EF ต้องทำให้สมอง EF เกิด Active ถ้าการลงมือทำของเด็กเป็นการถูกสั่งให้ทำ สมอง EF ก็จะไม่ Active เพราะฉะนั้นในการออกแบบกิจกรรมเรียนรู้ ครูควรคิดให้ดีว่าต้องการให้อะไร Active หรือเกิดการทำงาน ถ้าต้องการให้สมอง EF เกิด Active ก็ต้องให้สมอง EF ได้ทำงานเช่นเด็กได้เล่นอิสระ สมอง EF ทำงานเพราะเด็กใช้ความคิดของเขาตลอดเวลาที่เล่น และจะยิ่งดีกว่านั้นถ้าครูหรือพ่อแม่ตั้งคำถามกระตุ้นให้เด็กคิด เช่น “หนูทำอะไร เล่าให้ฟังหน่อย”
พ่อแม่ชิงช่วยหาคำตอบ พ่อแม่บางรายเมื่อลูกทำไม่ได้สักที อาจจะชิงช่วยบอกคำตอบให้ลูก กลัวลูกทำไม่สำเร็จ พ่อแม่ต้องใจเย็น กระตุ้นให้ลูกหาคำตอบด้วยตัวเองให้ได้ เพื่อสร้าง Self ให้ลูก
ไม่ตัดสินเด็ก เด็กถูกตัดสิน เช่น “ทำไมชอบแบบนี้ล่ะ”“ทำไมไม่ทำอย่างนั้นล่ะ”…จะทำให้กระบวนการทำงานของ EF หยุดชะงัก บั่นทอนความมั่นใจ (Self) ของเด็ก
ความรู้สึกเป็นเจ้าของ ควรให้เด็กรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของทั้งความคิด ความชอบ ผลงานของตัวเอง เช่นครูตั้งชื่อหัวข้องานว่า “เมนูโปรดของหนู” จะกระตุ้นให้เด็กอยากทำ เพราะไม่ว่ามันจะออกมาเป็นอย่างไร มันก็ยังเป็นเมนูของเด็กแต่ละคน
มองให้ลึกถึงกระบวนการคิด ความรู้สึกของเด็ก พอให้เด็กทำงาน ครูหรือพ่อแม่ต้องให้โอกาสเขาเรียนรู้ อย่ามุ่งตัดสินว่าผลงานที่ทำดีหรือไม่ดี มุ่งเน้นว่าการทำงานนั้นเด็กได้เรียนรู้พัฒนาอะไรบ้าง เด็กรู้สึกอย่างไร พอใจกับผลงานของตัวเองไหม คำตัดสินหรือการคอยบอกให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้จะกระทบ Self ของเด็ก เพราะฉะนั้นระหว่างที่เฝ้าดูเด็กทำงาน คำพูดเป็นสิ่งสำคัญ ขอให้มุ่งไปที่การเรียนรู้ของเด็ก ให้โอกาสเด็กได้ลองผิดลองถูก ผู้ใหญ่มีหน้าที่เรียนรู้ว่าเด็กเรียนรู้อะไร
ดูเรื่องพัฒนาการและความสามารถเฉพาะบุคคลด้วย เด็กแต่ละคนแตกต่างกัน ความหวังดีของผู้ใหญ่มักจะทำให้เคี่ยวเข็ญเด็ก ตัดสินถูกผิด ทำแทนเด็ก เด็กจะไม่ได้พัฒนาทั้ง Self และ EF การเรียนรู้พัฒนาจะเกิดขึ้นได้เมื่อครูกับพ่อแม่เปิดโอกาสให้เด็กได้คิดได้ลงมือทำ ได้ตัดสินใจด้วยตัวเอง ถ้าครูหรือพ่อแม่เข้าไปช่วยเด็กเร็วเกินไป ไม่ได้ให้กำลังใจ ไม่กระตุ้นให้เด็กอยากทำ การเรียนรู้พัฒนาก็จะไม่เกิดรวมทั้ง EF และ Self ด้วย
ครูต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ให้มาก ในการจัดกิจกรรมเรียนรู้ให้เด็ก ครูควรตั้งโจทย์ให้ชัด แต่มีข้อจำกัดให้น้อยที่สุด สร้างความท้าทายให้เด็ก แล้วให้เด็กได้คิดเยอะๆ ทำเยอะๆ ที่สำคัญต้องเชื่อมั่นในศักยภาพของเด็ก ผลักดันให้เด็กนำศักยภาพที่มีอยู่ออกมาใช้ให้มากที่สุด ความท้าทายคือครูจะสร้างแรงบันดาลใจ แรงกระตุ้นอย่างไรที่จะทำให้เด็กอยากใช้ศักยภาพที่มีอยู่
กิจกรรม Cooking ให้การเรียนรู้พัฒนาแตกต่างกันไป เด็กอาจสนุกกับการเรียนรู้ที่โรงเรียน แต่ที่บ้านเด็กรู้สึกได้โชว์พ่อแม่อย่างภาคภูมิใจด้วยหากเป็นเมนูโปรดจะพัฒนาไปถึงเรื่อง Self ด้วย เด็กรู้สึกเหมือนเป็นเจ้าของโปรเจ็กต์ ถ้าให้เด็กทำอาหารเป็นกิจวัตร ขึ้นอยู่กับว่าได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่อะไร ทักษะที่จะได้ฝึกฝนทำงานก็จะแตกต่างกัน เช่นล้างผัก กับหั่นผัก ใช้ทักษะคนละอย่าง แต่ทั้งสองอย่างต้องมีการติดตามประเมินตนเอง แต่เป็นการประเมินคนละด้าน
การสะกดคำในภาษาไทยต้องใช้ทักษะ EF ค่อนข้างสูง ถ้าเด็กคนใดมี EF บกพร่องไปบางด้าน ไม่ได้รับการส่งเสริมที่ดีพอ ก็จะส่งผลต่อการเรียนรู้สะกดคำ
การเรียนรู้แล้วนำมาใช้ในชีวิตจริง เช่น เด็กเรียนรู้เรื่องการจัดระบบ แต่เด็กเรียนรู้แล้วนำมาจัดระบบในชีวิตจริงได้ไหม เช่น จัดตารางชีวิตตัวเอง จัดระบบในบทบาทของนักเรียน บาทบาทของลูก เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นทักษะเดียวกันแต่คนละเนื้อหา เรียกว่า ทักษะชีวิต หรือ Soft Skill ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ แต่เรามักมองข้ามไม่ได้นำมาบูรณาการผ่านทางเนื้อหาวิชาการ การจะให้เด็กมี Soft Skill ครู(และพ่อแม่)ต้องใช้การพูดคุย การซักถาม เพื่อจะได้วิเคราะห์แล้วส่งเสริมเด็กได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
ระวังการประเมิน หากเรามุ่งเรื่องทักษะ เวลาเด็กทำแล้วไม่ถูกต้องสมบูรณ์แบบ ครูควรต้องมาค้นว่าอะไรทำให้เด็กคิดแบบนั้น เพราะวิธีคิดของคนเรามีหลากหลายวิธี เด็กอาจคิดไม่ตรงกับที่ครูคิด ครูเลยคิดว่าผิด ต้องระวังจุดนี้
เรียบเรียง : ผาณิต บุญมาก
บรรณาธิการ: ภาวนา อร่ามฤทธิ์
สถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป)