Home – Based Learning ชั้นประถมเด็กได้เรียนรู้พัฒนาอย่างแท้จริงไหม

Home – Based Learning ชั้นประถมเด็กได้เรียนรู้พัฒนาอย่างแท้จริงไหม

จากการนำเสนอประสบการณ์การจัด Home – Based Learning ของโรงเรียนต่างๆ โดยสถาบัน RLG ที่ผ่านมานั้น ล้วนเป็นการจัด HBL ในระดับชั้นอนุบาล อาจมีคำถามว่า แล้วเด็กประถมล่ะ สามารถจัด HBL ที่สนุกสนานและเด็กได้เรียนรู้พัฒนาอย่างแท้จริงไหม ?

          โรงเรียนเพลินพัฒนาซึ่งเปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล-มัธยมศึกษา ได้แสดงให้เห็นว่าการจัด HBL ชั้นประถมโดยให้เป็นการเรียนรู้แบบ Active Learning และยังคงมีเป้าหมายในการพัฒนาเด็กเช่นเดียวกับ    การเรียนปกติ (School – Based Learning) เป็นไปได้แน่นอน

Home – Based Learning Community

เมื่อย้ายฐานการเรียนรู้ไปอยู่ที่บ้าน โรงเรียนเพลินพัฒนาเรียกว่า Home – Based Learning Community หรือชุมชนแห่งการเรียนโดยใช้บ้านเป็นฐานการเรียนรู้ และอาศัยเครื่องมือสำคัญคือการออนไลน์ รวมทั้ง Plearn Learning Box ชุดสื่อวัสดุอุปกรณ์ในการเรียนรู้ที่โรงเรียนส่งไปให้เด็กๆ 

          หลักการการจัด HBLC โดยหลักๆ แล้ว ต้องพัฒนาฐานกายและฐานใจไปพร้อมๆ กับฐานปัญญา โดยต้องจัดการศึกษาให้เหมาะกับความสนใจ ศักยภาพตามวัยของเด็ก จัดการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการวิจัยเป็นแนวทาง เนื้อหาสาระการเรียนรู้และการฝึกทักษะต่างๆ ต้องสอดคล้องกับบริบท วิถีชีวิตที่บ้าน และต้องคำนึงถึงการให้เด็กใช้เวลาอยู่หน้าจออย่างเหมาะสม ทั้งช่วงเวลา ระยะเวลา และคุณภาพของการใช้เวลา

การจัดกลุ่มเด็ก

มีการจัดกลุ่มเด็ก 3 ลักษณะ คือ กลุ่มใหญ่ 30 คน กลุ่มย่อม 15 คน กลุ่มย่อย 7-8 คน กลุ่มใหญ่เด็กจะได้เรียนรู้วิธีคิดที่หลากหลายกับเพื่อนในชั้นเรียนทั้งหมด และได้แลกเปลี่ยนกันอย่างลึกซึ้ง ถกเถียงกันในกลุ่มย่อมและกลุ่มย่อย

ตัวอย่างตารางการเรียนรู้ของชั้นประถม 1

ช่วง ZOOM ชั้นประถม 1 เรียน 3 หน่วยวิชา ช่วงออนไลน์ใช้เวลาช่วงละ 30 นาที ซึ่งเป็นเวลาที่จำกัดที่ครูจะใช้กระบวนการ Open Approach และ Active Learning ดังนั้นครูจะต้องชัดเจนใน conceptของและ key subject ของวิชานั้นๆ  และต้องทำให้เป็นการเรียนรู้ที่สนุกด้วย รวมทั้งต้องมีเวลา 5-8 นาทีสำหรับเปิดโอกาสให้เด็กๆ แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อยกระดับการเรียนรู้ของห้องเรียน

          ช่วง Self – Directed Learning เป็นเวลา 40 นาทีต่อจากช่วง ZOOM วิชาเดียวกัน เป็นช่วงที่ให้เด็กๆ ได้นำความรู้ความเข้าใจจากการเรียนในช่วง ZOOM ไปทำการตกผลึก ต่อยอด สร้างการเรียนรู้ใหม่ หรือสร้างโจทย์ใหม่ๆ ให้กับตนเอง รวมทั้งฝึกกำกับตนเอง  ฝึกการทบทวน ประเมินตัวเองเพื่อพัฒนาในครั้งต่อไป ซึ่งช่วงนี้เมื่ออยู่ที่โรงเรียนจะมีครูที่จะช่วยกำกับบ้าง แต่ในการเรียนรู้ที่บ้านเด็กจะได้ฝึกการดูแลกำกับตัวเองด้วยตัวเอง รู้ว่าช่วงเวลาใดต้องทำอะไร งานของตัวเองคืออะไร 

          ช่วงงานบ้าน ในช่วงเวลา 15.00-15.30 น. เป็นช่วงทำงานบ้าน ซึ่งเป็นกิจวัตรประจำวันที่เด็กต้องทำอย่างสม่ำเสมอ เพราะโรงเรียนไม่ได้คาดหวังแค่สมรรถนะของเด็กเท่านั้น แต่ยังคาดหวังให้เด็กตระหนักถึงคุณค่าแห่งตนต่อครอบครัว เป็นสมาชิกที่ดีของบ้าน เมื่อโตขึ้นก็จะขยายเป็นสมาชิกที่ดีต่อสังคม รวมทั้งสร้างสัมพันธภาพในครอบครัว

          หอบันดาลใจ พื้นที่เก็บสะสมผลงานของเด็กๆ เพื่อให้เด็กๆ ทุกคนเข้าไปดูงานของตัวเอง ได้เห็นความก้าวหน้าของตัวเองตั้งแต่สัปดาห์ที่1 – สัปดาห์ที่10 ได้เห็นผลงานและความคิดของเพื่อนๆ ได้เห็น Feedback ของคุณครู เด็กๆ จะเกิดแรงบันดาลใจในการพัฒนางานของตัวเองต่อไป

การเรียนรู้กลุ่มวิชาพื้นฐาน

การเรียนรู้ในกลุ่มวิชาพื้นฐาน อันได้แก่ วิชาคณิตศาสตร์ ภูมิปัญญาภาษาไทย ESL (English as a Second Language) มีการจัดการเรียนรู้ทั้ง Open Approach และ Self-Directed Learning อย่างสอดประสานกัน โดยมีสื่ออุปกรณ์ประกอบการเรียนรู้ แบบฝึกจาก Plearn Learning Box ที่เด็กจะต่อยอดการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง

การเรียนรู้กลุ่มหน่วยวิชาประยุกต์

เรียกว่าวิชามนุษย์กับโลก เป็นการบูรณาการระหว่างศาสตร์หลายศาสตร์ เน้นการทำวิจัยโดยมีเป้าหมายให้เด็กๆ ได้สร้างปัญญาจากการอ่านการเขียน ได้ฝึกการใช้เหตุผล ฝึกการตั้งโจทย์ปัญหา ตั้งสมมติฐาน ออกแบบวิธีการพิสูจน์ เด็กๆ จะได้ทำการสำรวจ สังเกต สัมผัส ตั้งข้อสังเกต ทดลองให้ปรากฏจริง และอธิบายอย่างเป็นเหตุเป็นผล เหล่านี้จะนำเด็กไปสู่ความสามารถในการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองในอนาคต

การเรียนรู้กลุ่มหน่วยวิชาพัฒนาชีวิต

เนื้อหามุ่งไปสู่เรื่องการกำกับตัวเอง การดูแลจัดการชีวิต และที่สำคัญคือความสามารถในการใช้ชีวิตในโลกอนาคตที่มีความสับสน วุ่นวาย ไม่แน่นอน ไม่สามารถคาดการณ์ได้  โรงเรียนมองว่าสถานการณ์โควิดเป็นสัญญาณเริ่มต้นที่ทำให้รู้ว่าในอนาคต สถานการณ์โลกอาจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะฉะนั้นเด็กๆ จึงต้องมีความสามารถในการกำกับตัวเองให้ได้เร็วที่สุด

สนใจในรายละเอียด HBLC ของโรงเรียนเพลินพัฒนา
สามารถเข้าไปศึกษาเรียนรู้ได้ที่ https://new.plearnpattana.ac.th/


“Home Sweet Home” Home – Based Learning อย่างมีความสุข

HBL ของโรงเรียนธีรธาดา จังหวัดพิษณุโลก มี Concept ว่า Play+Learn “Plearn at Home” โดยให้ความสำคัญกับการออกแบบการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับพัฒนาการตามวัยของเด็ก และเป็น Active Learning และมีแนวคิดว่า ในการใช้บ้านเป็นฐานการเรียนรู้นั้น ทำอย่างไรไม่ให้พ่อแม่ ผู้ปกครองหนักใจหรือรู้สึกเป็นภาระ แต่เกิดความสุขทั้งพ่อแม่และลูก และยังคงส่งเสริมพัฒนาการ 4 ด้านของเด็ก กาย ใจ อารมณ์-สังคม สติปัญญา พัฒนา Self พัฒนาทักษะสมอง EF รวมทั้งส่งเสริมจิตสำนึกที่ดี

          โรงเรียนมองว่าสถานการณ์โควิดและ HBL เป็นโอกาสให้ครอบครัวได้หันมาสร้างความอบอุ่นใกล้ชิดกันมากขึ้น พ่อแม่ใส่ใจลูกมากขึ้น มีโอกาสได้ทำกิจกรรมกับลูก ได้เห็นการพัฒนาทักษะความสามารถของลูก ได้รู้จักเข้าใจลูกมากขึ้น  ส่วนเด็กได้มีโอกาสช่วยเหลือพ่อแม่ เกิดความเห็นอกเห็นใจพ่อแม่ พี่เลี้ยง เป็นเด็กดีของพ่อแม่ ทำให้พ่อแม่ชื่นใจ เป็นการกระชับความสัมพันธ์ในบ้าน 

บูรณาการการเรียนรู้ไปกับบริบทในบ้าน

ดังนั้น กิจกรรมที่ครูออกแบบให้เด็กเรียนรู้จึงเป็นการบูรณาการบริบทในบ้านกับการเรียนรู้เรื่องต่างๆ  รวมทั้งเน้นกิจกรรมที่สร้างสัมพันธ์ในครอบครัว เช่น กิจกรรมที่ให้เด็กฝึกทำงานบ้าน กิจกรรมทำอาหาร (ซึ่งในช่วงโควิดนี้มีบางรายพ่อแม่ลูกชวนกันลองทำขนมปังจนขายได้ เกิดอาชีพใหม่ในครอบครัว) กิจกรรมที่ให้เด็กทำความรู้จักบ้านของตัวเอง เช่น เตียงนอนมีขนาดเท่าไร ต้องทำความสะอาดห้องนอนอย่างไร ห้องต่างๆ ในบ้านมีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่าอย่างไร เป็นการบูรณาการวิชาการต่างๆ เข้ามาให้เด็กเรียนรู้ รวมทั้งสอดแทรกจริยธรรม เช่นความกตัญญูต่อผู้ใหญ่ในบ้าน การเห็นอกเห็นใจพ่อแม่ พี่เลี้ยง เมื่อเด็กๆ ได้ช่วยเหลือพ่อแม่ ก็จะภูมิใจ เป็นการพัฒนาทั้ง Self-Esteem และทักษะสมอง EF

เน้นการสื่อสารกับพ่อแม่

โรงเรียนให้ความสำคัญกับการสื่อสารกับพ่อแม่ผู้ปกครองอย่างมาก นับตั้งแต่มีการพูดคุยกับพ่อแม่ตั้งแต่แรกเข้าโรงเรียน เพื่อให้พ่อแม่เห็นแนวทางของโรงเรียนและยอมรับที่จะให้ความร่วมมือกับโรงเรียน ระหว่างที่เรียนก็มีสื่อสารกันเป็นประจำ ทุกๆ 3-4 สัปดาห์โรงเรียนมีการ “บอกกล่าวเล่าขาน” หรือสรุปให้ผู้ปกครองทราบว่าโรงเรียนมีการจัดการเรียนการสอนอย่างไร รวมทั้งสอดแทรกความรู้เรื่องการพัฒนาเด็กไปด้วย ขอความร่วมมือจากผู้ปกครองในการร่วมกันพัฒนาเด็ก

          ดังนั้นเมื่อโรงเรียนมาจัดการเรียน HBL ผู้ปกครองจึงพร้อมให้ความร่วมมือ รวมทั้งโรงเรียนยังมีการจัดการที่ไม่ทำให้การเรียนรู้ของลูกเป็นภาระของผู้ปกครองมากไป ครูมีการสื่อสารกับผู้ปกครองอย่างชัดเจนว่าในแต่ละวันผู้ปกครองต้องเตรียมอะไร เด็กต้องทำอะไรอย่างไร เวลาใด โดยเน้นให้เด็กช่วยเหลือรับผิดชอบตัวเองให้ได้มากที่สุด ทั้งเรื่องกิจวัตรประจำวันและเรื่องการเรียนรู้  แล้วครูติดตามประเมินผลกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง ทุกๆ 1-2 สัปดาห์

          อาจารย์วัลลา สันติภาดา ผู้ก่อตั้งและกรรมการฝ่ายบริหารโรงเรียนธีรธาดาได้กล่าวว่า “หากพ่อแม่ผู้ปกครองเปิดใจเรียนรู้จากเด็กและร่วมมือกับโรงเรียนสนับสนุนพัฒนาลูกหลาน เด็กๆ ก็จะเติบโตงดงาม”


เรียบเรียง : ผาณิต บุญมาก
บรรณาธิการ: ภาวนา อร่ามฤทธิ์
สถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป)