Home-Based Learning เด็กปฐมวัยอย่างไร? ได้อะไร?
วัย 0-6 ปีเป็นช่วงเวลาทองของชีวิตมนุษย์ เป็นช่วงวัยที่มนุษย์มีการพัฒนาทุกด้านอย่างมาก ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์-สังคม พัฒนาการทางภาษา ทักษะสมอง EF รวมถึงเป็นช่วงเวลาที่ Self ก่อร่างสร้างตัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเป็นขั้นตอน และจะเป็นพื้นฐานของชีวิตไปตลอดชีวิต พัฒนาการหลายๆ อย่างไม่สามารถไปสร้างหรือพัฒนาให้ดีได้ในช่วงชีวิตอื่น
จาก School – Based Learning มาเป็น Home – Based Learning
เพื่อไม่ให้เด็กๆ ต้องสูญเสียเวลาทองของชีวิต ขาดการพัฒนาเรียนรู้ หรือเกิดภาวะ Learning Lost จากการที่โรงเรียนปิดเมื่อสถานการณ์โควิดระบาดรุนแรง โรงเรียนจึงย้ายฐานการเรียนรู้จากโรงเรียนไปที่บ้าน มีการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่บ้านเป็นฐานเรียกว่า Home – Based Learning
Home – Based Learning พ่อแม่มีบทบาทเป็นผู้จัดประสบการณ์การเรียนรู้และสนับสนุนให้ลูกเรียนรู้ ในขณะที่ครูและโรงเรียนเป็นผู้ออกแบบ วางแผนการเรียนรู้ และคอยสนับสนุน ช่วยเหลือ ให้ความรู้ ให้กำลังใจพ่อแม่ผู้ปกครอง
ครูมีการสื่อสาร พูดคุยกับพ่อแม่ ผู้ปกครองทั้งเป็นรายกลุ่ม รายชั้น และรายครอบครัว HBL เป็นโอกาสให้บ้านและโรงเรียนทำงานใกล้ชิดกัน จับมือร่วมมือกันมากขึ้น ช่วยเหลือ สนับสนุนกันและกัน ครูเป็นโค้ชคอยให้ความรู้และเทคนิคต่างๆ ให้ความช่วยเหลือแก่พ่อแม่ผู้ปกครอง จัดอบรม เปิดห้องเรียนพ่อแม่ โดยอาศัยเทคโนโลยีการสื่อสารหลายช่องทางตามแต่ผู้ปกครองสะดวก
เป้าหมายของ Home – Based Learning เด็กปฐมวัย
เป้าหมายของ Home – Based Learning สำหรับเด็กปฐมวัยคือการพัฒนาฐานรากชีวิตที่สำคัญ 3 เรื่อง คือ พัฒนาการ ทักษะสมอง EF และ self และมีการจัดการเรียนรู้แบบ active learning ให้เด็กได้คิด ได้ลงมือทำ ได้ตัดสินใจ ได้วางแผน ได้มุ่งสู่เป้าหมาย
ผลลัพธ์ปลายทาง
หลังจากที่โรงเรียนต่างๆ จัด Home – Based Learning มาเป็นเวลาระยะหนึ่งแล้วปรากฏว่าเกิดผลที่น่าพอใจ เมื่อครูตั้งเป้าหมายในการจัด HBL ให้ถูกต้อง พบว่า
- เด็กเกิดการเรียนรู้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง
- พ่อแม่ผู้ปกครองมีความรู้ความเข้าใจ มีทักษะมากขึ้น ไม่ว่าในการดูแลลูกและการสนับสนุนให้ลูกเรียนรู้ เพราะพ่อแม่ได้ลงมือปฏิบัติจริงโดยมีครูเป็นโค้ชคอยให้คำปรึกษา แนะนำ
- เกิดสัมพันธภาพที่ดีระหว่างบ้านและโรงเรียน ครูได้รับความเคารพนับถือมากขึ้นเพราะคอยเป็นโค้ชให้พ่อแม่มีทักษะมากขึ้น
- ครูเกิดการเรียนรู้พัฒนาตนเอง ได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ และเชี่ยวชาญในวิชาชีพของตนมากขึ้น จากการที่ต้องศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อมาวางแผนและออกแบบกิจกรรมเรียนรู้ ครูมีทักษะ EF มากขึ้นเพราะต้องยืดหยุ่น สร้างสรรค์มากขึ้น
ปัจจุบันบ้านมีความเข้มแข็งมากขึ้น พ่อแม่มีความเข้าใจในเรื่องการเรียนรู้ของลูก รู้จักเทคนิควิธีในการมีปฏิสัมพันธ์กับลูก วิธีสร้างแรงบันดาลใจให้ลูกเกิดการเรียนรู้พัฒนา รู้จักตั้งคำถามกระตุ้นความคิด ให้กำลังใจ ชื่นชมลูก สามารถนำกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ในบ้านมาพัฒนาลูกได้ โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะสมอง EF
ดังนั้น โรงเรียนต้องไม่ละทิ้งศักยภาพของบ้านหรือพ่อแม่ ผู้ปกครอง ไม่ว่าสถานการณ์ใด โรงเรียนจะเปิดหรือไม่เปิดเรียน พ่อแม่จะต้องเคียงข้างกับครูเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับครอบครัวและทำให้เด็กเกิดกระบวนการเรียนรู้ที่ดี ในอนาคตไม่แน่นอนว่าจะเกิดสถานการณ์อะไรขึ้นอีก ครูและโรงเรียนต้องสามารถยืดหยุ่นและพร้อมปรับเปลี่ยนระหว่าง School-Based Learning กับ Home – Based Learning ได้
ขอให้พึงตระหนักว่าบ้านและโรงเรียนไม่สามารถแยกออกจากกันได้
ครูและโรงเรียนต้องทำงานกับพ่อแม่ ผู้ปกครองอย่างมาก โดยมีเรื่องที่ต้องตระหนักดังนี้
• พ่อแม่ไม่ใช่ครู บ้านไม่ใช่โรงเรียน จึงไม่ควรเอาการเรียนการสอนแบบในโรงเรียนไปให้พ่อแม่สอนลูก ต้องย่อยกระบวนการให้ง่ายต่อพ่อแม่จะนำไปปฏิบัติด้วย
• แต่ละบ้านแต่ละครอบครัวมีบริบทที่แตกต่างกัน มีวิถีชีวิตที่ไม่เหมือนกัน ความเชื่อในการดูแลลูกไม่เหมือนกัน ทักษะความรู้ความเข้าใจในเรื่องการเลี้ยงดูลูกก็ไม่เท่ากัน ครูและโรงเรียนต้องยืดหยุ่น มีทางเลือกให้พ่อแม่
• โรงเรียนและบ้านต้องวางเป้าหมายให้ตรงกันว่าต้องการให้เด็กมีการเรียนรู้พัฒนาอย่างไร จึงต้องสื่อสารกันอย่างใกล้ชิด ชวนพ่อแม่ติดตามความก้าวหน้าของลูกไปพร้อมๆ กับครูและโรงเรียน
เยียวยาเด็กจากผลกระทบของสถานการณ์โควิดด้วย HBL
เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด ซึ่งเกิดขึ้นมานานถึง 2 ปีแล้วและยังไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและการพัฒนาเด็กวิตกว่าเด็กปฐมวัยซึ่งอยู่ในช่วงวัยทองของชีวิตจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตนี้ อาจารย์ธิดา พิทักษ์สินสุข อุปนายกสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทยฯ ได้กล่าวว่า ผลกระทบต่อเด็กปฐมวัยมีหลายด้านด้วยกัน คือ
1. โรงเรียนปิด การเรียนรู้พัฒนาต่างๆ หยุดชะงักถดถอย เกิดภาวะ Learning Lost เช่น เมื่ออยู่บ้านเด็กไม่มีวินัย การเรียนรู้ไม่ต่อเนื่อง ไม่ได้รับการส่งเสริมพัฒนาการ
2. เด็กรายล้อมไปด้วยความเครียด เช่น ข่าวสารความเป็นไปของสถานการณ์โควิด พ่อแม่วิตกกังวล เครียด ซึ่งเด็กซึมซับได้
3. มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น กระทบต่อชีวิตปกติของเด็ก เช่น เด็กต้องใส่แมสก์ ต้องระวังตัวในการสัมผัสกับสิ่งต่างๆ นอกบ้าน ต้องล้างมือ พ่นแอลกอฮอล์ เป็นต้น
4. Social Distancing ทำให้เด็กอยู่แต่ในบ้าน ขาดการเชื่อมโยงผูกพันทางสังคม ขาดการติดต่อ การมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน กับโลกภายนอก
ดังนั้น โรงเรียนและครูจึงคิดสร้างสรรค์การจัดการเรียนรู้ที่บ้านเป็นฐาน เรียกว่า Home – Based Learning ให้ช่วยเยียวยาเด็กจากการได้รับผลกระทบของสถานการณ์โควิดดังที่กล่าวมาข้างต้น ดังนี้
1. สร้างความคงที่สม่ำเสมอในชีวิตประจำวัน เมื่อโรงเรียนปิด วิถีชีวิตประจำวันหรือจังหวะชีวิตของเด็กเปลี่ยนไป ไม่มีความสม่ำเสมอเหมือนไปโรงเรียน Home – Based Learning จัดให้เด็กมีตารางกิจวัตรประจำวันเพื่อให้เด็กมีวินัยในตนเอง กำกับตัวเอง มีเป้าหมาย มีความรับผิดชอบในตัวเอง ครูทำตารางเรียนให้เด็กรู้ว่าช่วงเวลาใดเด็กจะได้พบครู มีปฏิสัมพันธ์กับครูกับเพื่อนๆ ช่วงเวลาใดจะได้เล่นอิสระ และช่วงเวลาใดต้องทำงานบ้าน
2. ให้เด็กได้มีความสุข ผ่อนคลาย ท่ามกลางความเครียดรอบตัว โดยคุณครูมาพบกับเด็กๆ ทางหน้าจอ มีปฏิสัมพันธ์ พูดคุย เล่านิทาน สร้างบรรยากาศที่สนุกสนาน กระตุ้นความสนใจ แรงบันดาลใจให้เด็กอยากทำกิจกรรม ซึ่งโรงเรียนจัดสื่ออุปกรณ์มาให้เด็กได้ทำกิจกรรมเรียนรู้พัฒนาอย่างสนุกเพลิดเพลินที่บ้าน กำหนดเวลาให้เด็กอยู่หน้าจอช่วงละไม่เกิน 30 นาที วันละไม่เกินชั่วโมงครึ่งถึงสองชั่วโมง
3. ให้เด็กมีการเรียนรู้พัฒนาที่ต่อเนื่อง เมื่อโรงเรียนเปิดเรียนไม่ได้ ครูจัดกิจกรรมเรียนรู้ที่เป็น Active Learning ให้เด็กได้คิด ได้ลงมือทำ ได้เคลื่อนไหว ได้มีปฏิสัมพันธ์ เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการที่ดี มีการพัฒนาทักษะสมอง EF และสร้าง Self ที่แข็งแรง
4. ให้เด็กได้มีปฏิสัมพันธ์ HBL ทำให้เด็กได้มีปฏิสัมพันธ์ พูดคุย ตอบโต้กับคุณครู กับเพื่อนๆ ซึ่งเด็กสามารถพูดคุยผ่านจอประหนึ่งอยู่ในชั้นเรียนปกติ เด็กทำกิจกรรมแล้วนำเสนอผลงานกับคุณครู คุณครูมี Feedback ชื่นชม ให้กำลังใจ เด็กเกิดความภาคภูมิใจ เป็นการเสริม Self และพัฒนาสมอง EF ด้วย
นอกจากนี้แล้ว Home – Based Learning ยังต้องบรรลุเป้าหมายสำคัญ คือเสริมสร้างพัฒนาการ พัฒนาทักษะสมอง EF และ self ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาเด็กปฐมวัย
การออกแบบแผนการเรียน Home – Based Learning อย่างยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพ
การจัด Home – Based Learning เป็นเรื่องใหม่สำหรับทุกคน หลายๆ โรงเรียนลองคิดลองทำแล้วพบปัญหา ก็หาทางปรับแก้ วางแผนให้ HBL มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สถาบัน RLG ได้เชิญชวนโรงเรียนที่มีประสบการณ์ตรงในเรื่องเหล่านี้มาแลกเปลี่ยน2 โรงเรียนด้วยกัน คือ โรงเรียนอนุบาลมณีรัตน์ โดยอาจารย์เกศินี วัฒนสมบัติ และโรงเรียนทับทอง โดยดร.อัญจลา จารุมิลินท
ปัญหาที่มักเกิดขึ้นในการจัด Home-Based Learning
พ่อแม่ไม่มีเวลา
ในการเรียน HBL พบปัญหาสำคัญคือพ่อแม่ไม่มีเวลา ไม่สามารถสนับสนุน สร้างแรงบันดาลใจให้ลูกเกิดการเรียนรู้ ทำกิจกรรม เช่น ไม่มีเวลาถ่ายคลิปให้ลูกหรือเปิดคลิปให้ลูกดูผลงานของเพื่อนๆ ไม่รู้ว่าจะช่วยสนับสนุนอย่างไร ซึ่งโรงเรียนปรับแก้โดยให้เด็กนำเสนอผลงานในคลาสออนไลน์พร้อมหน้ากันเพื่อให้เด็กเห็นผลงานของเพื่อนๆ สื่อสารทำความเข้าใจกับผู้ปกครองเรื่องหลักการ เทคนิควิธี ชี้ให้พ่อแม่เห็นความสำคัญของบทบาทตนเองในการเรียนรู้ของลูก บรรจุลงในแผนการเรียนว่าพ่อแม่ต้องมีส่วนร่วมในการเรียนรู้และการทำกิจกรรมของลูกอย่างไร
พ่อแม่คิด ทำแทนลูก
ในทางตรงข้ามพบปัญหาว่าผู้ปกครองที่ให้เวลากับลูกอย่างมากมักทำให้ลูกหรือชี้นำลูก ผิดวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้แบบ Active Learning ที่เด็กต้องคิดเอง ลงมือทำเอง โรงเรียนปรับแก้โดยสร้างความเข้าใจและบรรจุลงในแผนถึงบทบาทของพ่อแม่ในการสนับสนุนการเรียนรู้ของลูกและชี้ให้เห็นว่าพ่อแม่อาจทำให้ลูกเสียโอกาสเรียนรู้พัฒนาหากทำแทนลูกหรือชี้นำลูก
เด็กขาดแรงบันดาลใจ
เด็กขาดแรงบันดาลใจ
ที่โรงเรียนครูสามารถสร้างบรรยากาศกระตุ้นให้เด็กเกิดแรงบันดาลใจได้ตลอดเวลา เมื่อเป็น HBLทำได้ยากหากพ่อแม่ไม่มีเวลาหรือไม่เข้าใจเทคนิควิธี โรงเรียนปรับแก้โดยจัดให้เด็กนำเสนอผลงานพร้อมกันในคลาสออนไลน์ หรือแบ่งกลุ่มย่อยให้ครูสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับเด็ก กระตุ้นให้เด็กเกิดแรงบันดาลใจได้ทั่วถึง
เด็กขาดปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนๆ
ที่โรงเรียนเด็กจะมีการพูดคุยปรึกษาหารือกัน มีการแบ่งหน้าที่กัน สำหรับ HBL เด็กขาดการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ขาดการฝึกความยืดหยุ่นเมื่อเผชิญความคิดเห็นที่แตกต่างกัน โรงเรียนปรับแก้โดยแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กันได้ง่ายขึ้น และกระตุ้นให้เด็กได้สื่อสารมีปฏิสัมพันธ์กันในคลาสออนไลน์ที่โรงเรียนเด็กจะมีการพูดคุยปรึกษาหารือกัน มีการแบ่งหน้าที่กัน สำหรับ HBL เด็กขาดการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ขาดการฝึกความยืดหยุ่นเมื่อเผชิญความคิดเห็นที่แตกต่างกัน โรงเรียนปรับแก้โดยแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กันได้ง่ายขึ้น และกระตุ้นให้เด็กได้สื่อสารมีปฏิสัมพันธ์กันในคลาสออนไลน์
พ่อแม่ผู้ปกครองหาวัสดุอุปกรณ์ตามที่ครูกำหนดไม่ได้
สื่ออุปกรณ์ที่โรงเรียนคิดหาได้ง่าย บางครั้งของธรรมดาๆ เช่น ใบไม้หรือของใช้ที่คิดว่าทุกบ้านต้องมี แต่บางบ้านไม่มี หากผู้ปกครองสื่อสารกับทางโรงเรียน ก็จะช่วยแก้ปัญหาให้ได้
ครูยุ่งและเหนื่อยมาก
การจัด HBLที่ครูต้องคิดสร้างสรรค์มากขึ้น มีเรื่องให้ตระเตรียมมากขึ้น สื่อสาร คอยช่วยเหลือแก้ปัญหาให้ผู้ปกครองตลอดเวลา หรือต้องจัดกิจกรรมวันละหลายรอบ ทำให้ครูยุ่งและเหนื่อยมาก ครูอาจจะท้อได้ ผู้บริหารควรแสดงความเห็นใจ ให้กำลังใจ รับฟังปัญหาและคอยช่วยเหลือครู
การปรับเปลี่ยนและการวางแผนการสอนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
แผนการเรียนการสอนมีความสำคัญมาก เด็กจะได้เรียนรู้พัฒนาตามวัตถุประสงค์ของโรงเรียนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการเขียนแผนเป็นอย่างมาก และปัญหาต่างๆ แก้ได้ด้วยการปรับแผน โรงเรียนมีการปรับ ยืดหยุ่นแผนดังนี้
ปรับเปลี่ยนวิธีเขียนแผนการสอนให้พ่อแม่เข้าใจปฏิบัติได้
ในเมื่อพ่อแม่ต้องมีบทบาทในการจัดประสบการณ์เรียนรู้ให้ลูก พ่อแม่ก็ควรจะต้องมีความเข้าใจในกิจกรรมเรียนรู้และเป้าหมายให้ชัดเจน ดังนั้นจึงต้องมีการปรับการเขียนแผนให้พ่อแม่เข้าใจและปฏิบัติได้ โดยใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ซึ่งปกติการเขียนแผนมักมีศัพท์เฉพาะที่ครูใช้กัน วิธีการต่างๆ และวัตถุประสงค์ต้องชัดเจน สิ่งสำคัญต้องมีการพูดคุย ชี้แจงให้ผู้ปกครองเข้าใจ จะทำให้พ่อแม่สามารถ support ลูกในขณะทำกิจกรรมได้อย่างมาก
วางแผนโดยให้พ่อแม่มีส่วนร่วม
เมื่อเป็นผู้ปกครองต้องมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ของลูกจึงต้องเขียนแผนให้ชัดว่าผู้ปกครองจะมีส่วนร่วมอย่างไร ให้ผู้ปกครองได้รับรู้เรียนรู้ทุกอย่างก่อนที่ลูกจะมานั่งเรียนหน้าจอ ครูต้องเขียนแผนการสอนที่ต้องคำนึงถึงทั้งเด็กและผู้ปกครองวางแผนให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการประเมิน ทั้งประเมินในขณะทำกิจกรรมและหลังเสร็จกิจกรรม มีการออกแบบแบบประเมินให้ผู้ปกครองได้ประเมินพัฒนาการ การเรียนรู้ และทักษะสมอง EF ของลูกด้วย โดยมีการอธิบายวิธีให้คะแนนอย่างเป็นรูปธรรมด้วย
วางแผนอย่างละเอียดในทุกขั้นตอน มีเป้าหมายกำกับ
ควรเขียนแผนการเรียนการสอนอย่างละเอียดและวางเป้าหมายกำกับไว้ทุกขั้นตอน เช่น เป้าหมายในการพัฒนาทักษะสมอง EF ด้านใดบ้าง รวมทั้งระบุกรอบการปฏิบัติเพื่อไม่ให้ครูหลุดไปจากเป้าหมาย เช่นระบุอย่างละเอียดว่าจะใช้เพลงเพื่อให้เกิดคำถาม หรือให้เด็กดูภาพไข่ต้มกับไข่ดิบ เพื่อาให้เด็กสังเกต เปรียบเทียบ เป็นต้น
วางแผนให้ได้เนื้อหาสาระครบถ้วน
ไม่ว่าจะเรียนโดยวิธีใด หรือไม่ว่าจะเรียนแบบ School – Based Learning หรือ Home – Based Learning แต่สุดท้ายแล้ว เด็กจะต้องได้เรียนเนื้อหาสาระครบตามหลักสูตรสถานศึกษา โดยครูมีคู่มือของตัวเอง มีการจดบันทึกสำหรับเช็กว่าสอนเนื้อหาได้ครบตามหลักสูตรซึ่งมี 4 สาระหรือไม่
เรียบเรียง : ผาณิต บุญมาก
บรรณาธิการ: ภาวนา อร่ามฤทธิ์
สถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป)