Home-Based Learning เรียนที่บ้าน แต่ครูยังคือคนสำคัญ
ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่เด็กๆ ต้องย้ายฐานการเรียนรู้มาอยู่ที่บ้าน เรียนผ่านจอ หลายคนอาจคิดว่า ภารกิจในการดูแลเด็กให้ได้เรียนรู้พัฒนาน่าจะมาตกหนักที่พ่อแม่ ผู้ปกครองมากกว่าคุณครู ครูน่าจะลดบทบาทลดความสำคัญลง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่เป็นเช่นนั้น
จากการจัดการแลกเปลี่ยนความรู้ผ่าน ZOOM โดยสถาบัน RLG ซึ่งเชิญโรงเรียนที่มีประสบการณ์จัดการเรียนการสอน Home-Based Learning มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ได้รับการยืนยันจากโรงเรียนอนุบาลเทพารักษ์และโรงเรียนเศรษฐบุตรอุปถัมภ์ว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ครูยิ่งมีบทบาทสำคัญ และทำงานกันอย่างหนัก
บทบาทของครูยังเป็นผู้ออกแบบการเรียนรู้ ในขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครองร่วมสนับสนุน มีความสุขไปกับการเรียนรู้ของลูกแต่ความยากลำบากของครูอยู่ที่จะออกแบบการเรียนรู้อย่างไรจึงจะทำให้เป็นการเรียนผ่านจอแบบ Active Learning ที่ช่วยพัฒนาเด็กรอบด้านรวมทั้งพัฒนาทักษะสมอง EF ซึ่งเป็นงานที่ยากและท้าทายกว่าการจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียน
ต้องยอมรับว่า Home-Based Learning เป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับครู ครูต้องอาศัยทักษะหลายอย่าง โดยเฉพาะในเรื่องเทคนิค เทคโนโลยีที่ครูไม่เคยรู้ไม่เคยทำมาก่อน เช่น การตัดต่อคลิปวิดีโอ การใช้โปรแกรม ZOOM โปรแกรมต่างๆ เป็นต้น รวมทั้งต้องใช้พลังในการดึงดูดเด็กให้ใส่ใจจดจ่ออยู่กับครูและการเรียนรู้ผ่านจอเป็นอย่างมากซึ่งเรื่องนี้ คุณครูต้องตา จิตดี ฝ่ายพัฒนาและสร้างสรรค์การเรียนรู้โรงเรียนอนุบาลเทพารักษ์ เน้นว่า “ครูต้องเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ เป็น Influencer ที่ทำให้เด็กๆ อยากรู้อยากเห็น มีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ ซึ่งเป็นบทบาทที่สำคัญมาก”
แม้จะเป็นงานที่ยากและท้าทาย ทั้งสองโรงเรียนกลับพบว่า การจัดการเรียน Home-Based Learning เป็นความท้าทายที่ทำให้ครูมีพลัง ครูขวนขวายหาวิธีการต่างๆ เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้พัฒนาศักยภาพตนเอง เมื่อโรงเรียนเปิดโอกาสให้ครูได้แสดงศักยภาพ ได้ทดลองทำอย่างเต็มที่โดยไม่จ้องจับที่ความผิดพลาด แล้วนำความคิด ไอเดีย วิธีการมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
นอกจากนั้นทั้งสองโรงเรียนยังให้ข้อคิดเกี่ยวกับบทบาทครูในสถานการณ์โควิดไว้อีกว่า
- มองในแง่เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส เป็นโอกาสให้ครูได้พัฒนาศักยภาพตัวเอง เป็นความท้าทายที่กระตุ้นครูให้เรียนรู้พัฒนา ได้ต่อยอดความสามารถ
- โรงเรียนควรเสริมความรู้ให้ครู ด้วยการทำ Workshop ให้ความรู้เรื่องเทคนิคต่างๆ เช่น การทำ Art Work การตัดต่อ การใช้โปรแกรมต่างๆ ฯลฯ
- ผู้บริหารต้องไว้ใจครูมากขึ้น แล้วจะพบว่าครูทำได้ อย่าทำลายบรรยากาศการเรียนรู้ของครูด้วยการเอาจริงเอาจังกับข้อผิดพลาด ให้ถือว่าความผิดพลาดเป็นการเรียนรู้
- โรงเรียนที่เปิดมานาน มีครูทั้งรุ่นเก่าและครูรุ่นใหม่ อายุมากและอายุน้อย ก็มีข้อดี ครูรุ่นเก่าเชี่ยวชาญในการดูแลเด็ก ครูรุ่นใหม่เข้ามาเติมเรื่องความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยี
- ถ้าความสัมพันธ์ระหว่างครูกับผู้ปกครองราบรื่น เมื่อครูส่งต่อกระบวนการให้ผู้ปกครองก็จะสนองตอบได้ดี ช่วยให้เด็กๆ ได้รับผลดีมากขึ้น
เห็นได้ว่าในวิกฤตที่เราเผชิญอยู่นี้ก็เป็นโอกาส Home-Based Learning ในสถานการณ์โควิดทำให้ครูได้พัฒนาศักยภาพตนเองอย่างมาก เป็นความหวังว่า ครูจะเป็นคลื่นลูกใหม่ที่จะเป็นพลังสร้างพื้นฐานคนคุณภาพที่จะขับเคลื่อนประเทศของเราให้ก้าวต่อไปได้อย่างดีในอนาคต
แนะนำเว็บเพจช่วยครูสอนออนไลน์แบบ Active Learning
หัวใจสำคัญของการจัด Home-Based Learning ที่เป็นการเรียนรู้แบบ Active Learningครูต้องหาวิธีการดึงดูดเด็กที่อยู่หน้าจอให้สนุก มีปฏิกิริยาตอบสนอง โต้ตอบกับการเรียนรู้ที่ครูจัดให้ให้ได้ ครูจึงต้องใช้กลเม็ดเด็ดพรายในการนำเสนอมากกว่าการสอนหน้าชั้นเรียน อย่างน้อยที่สุดครูต้องใช้ท่าทางการแสดงออกที่น่าสนใจมากกว่าปกติ อาศัยอุปกรณ์ต่างๆ มาประกอบ มากกว่านั้นก็เลือกใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มความน่าสนใจ เช่น ทำคลิปวิดีโอที่ถูกใจเด็ก มีภาพเคลื่อนไหว มีเกมการเรียนรู้ที่สนุกไม่แพ้การเล่นเกมทั่วไป มีการนำเสนอด้วยการ์ตูน ภาพกราฟฟิกสวยๆ หรือใช้เทคนิคที่เด็กสามารถมี Interaction กับครู กับสิ่งที่ครูนำเสนอได้ด้วย
เหล่านี้เป็นเรื่องใหม่ ทักษะใหม่ ที่ครูต้องเรียนรู้ รู้จักแสวงหาแหล่งที่จะช่วยให้ครูเรียนรู้และนำเทคโนโลยีไปใช้ได้ อาจารย์สรยศ พนายางกูร ผู้จัดการโรงเรียนเศรษฐบุตรอุปถัมภ์ ได้แนะนำเว็บเพจที่ครูสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เช่นเว็บเพจที่ให้รูปภาพ การ์ตูน สติกเกอร์ เกม แบบทดสอบ แบบฝึกหัด สื่อ Interact ที่ทำให้เด็กๆ ได้ฝึกทักษะ ได้เรียนรู้อย่างสนุก เพจที่ใช้งานออกแบบกราฟิก ตัดต่อวิดีโอ เพจตัวอย่างงานประดิษฐ์ ไว้ดังนี้
Topmarks.co.uk เพจที่มีสื่อ Interactive หลายกลุ่มสาระ เหมาะกับการใช้สอนผ่าน ZOOM และบนกระดาน IWB หน้าห้องเรียนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งสร้างความตื่นเต้นให้กับเด็กๆ เกมใน Topmarks คัดสรรมาแล้วโดยนักวิชาการชั้นนำ (เว็บภาษาอังกฤษ)
Wordwall.net.th เพจที่สร้างสื่อ เกมการศึกษา แบบทดสอบ แบบฝึกหัดแสนสนุก ง่ายๆ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย (เว็บภาษาไทย)
Canva.com/th_th เพจที่ใช้ออกแบบงานกราฟฟิก โปสเตอร์ Zoom Background วิดีโออย่างมืออาชีพ มีภาพให้ใช้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย (เว็บภาษาไทย)
Pixabay.com เพจที่มีรูปภาพ กราฟิก วิดีโอ การ์ตูนสวยๆ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แถมขายได้ด้วย (เว็บภาษาไทย)
เพจของเล่น DIY จากต่างประเทศ ใช้วัสดุรีไซเคิลมาประดิษฐ์ของเล่น
กล่อง ลังกระดาษ นำมาใช้เป็นอุปกรณ์การเรียนรู้ HBL ได้อย่างหลากหลาย ทั้งทำสื่อการสอน ทำบล็อก พื้นที่ทำงานศิลปะรองก้นถุง BHLKSensory Box ทำป้าย ทำถาดเก็บของ ถาดเสิร์ฟน้ำ ถาดจัดระเบียบลิ้นชักกล่องเก็บของ ฯลฯ เพจ DIY ลังกระดาษ เช่น ทำของเล่น ของใช้ งานประดิษฐ์ต่างๆ ที่คุณครูนำไปทำสื่อการสอนได้
เกม Scavenger Hunt ลองนำเกม Scavenger Hunt ที่ครูต่างประเทศนำไปใช้กับเด็กของเขา มาใช้ทำกิจกรรมกับเด็กของเรา
ลองดู แล้วคุณครูจะได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ จุดประกาย จุดไฟให้สนุกกับการสอน กับการเรียนรู้ของเด็กๆ ยิ่งขึ้น
เรียบเรียง : ผาณิต บุญมาก
บรรณาธิการ : ภาวนา อร่ามฤทธิ์
สถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป)