Home – Based Learning
เรียนที่บ้าน แล้วจะประเมินผลอย่างไร
เมื่อลูกย้ายการเรียนมาเรียนที่บ้าน พ่อแม่ ผู้ปกครองอาจจะเกิดคำถามว่า “แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าลูกเกิดการเรียนรู้ขึ้นจริงๆ” หรือ “ลูกจะพัฒนาได้ดีเหมือนเรียนที่โรงเรียนหรือ?”
ในการจัดการเรียนรู้ที่เรียกว่า Home – Based Learning ของโรงเรียนทับทอง ได้ตอบคำถามเหล่านี้แก่พ่อแม่ ผู้ปกครองอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการออกแบบการประเมินอย่างรอบด้าน ซึ่งจะทำให้พ่อแม่ได้เห็นได้ตระหนักด้วยตัวเองว่าลูกเรียนรู้พัฒนาหรือไม่
การประเมิน ซึ่งห่วงกันว่าจะประเมินอย่างไร พ่อแม่จะประเมินเด็กได้อย่างถูกต้องหรือไม่ ดร.อัญจลา จารุมิลินท ผู้อำนวยการโรงเรียนทับทองได้อธิบายว่า“ในท้ายสัปดาห์แต่ละสัปดาห์ หลังจากเด็กๆ ได้ทำกิจกรรมในสัปดาห์นั้นๆ มาแล้ว จะมีการประเมินโดยครู พ่อแม่ผู้ปกครอง และตัวเด็กเอง โดยทางโรงเรียนจัดทำแบบฟอร์มการประเมินที่มีแตกต่างกันไปสำหรับครูแบบประเมินมีความซับซ้อนกว่าของพ่อแม่ แบบประเมินสำหรับพ่อแม่มีคำอธิบายอย่างเป็นรูปธรรมที่พ่อแม่จะใช้สังเกตและประเมินลูกได้ ส่วนเด็กๆ แบบประเมินเป็นรูปภาพเพื่อให้เด็กเข้าใจได้ง่าย”
ก่อนอื่นต้องเข้าใจจุดประสงค์ในการประเมินของแต่ละฝ่ายด้วยว่าประเมินเพื่ออะไร และประเมินอย่างไร
ครู ประเมินเพื่อส่งเสริมพัฒนาการ และปรับปรุงแผนการสอนของครู
ประเมินแต่ละกิจกรรมที่เด็กทำ โดยมีหัวข้อใหญ่ๆ คือ ดูความสามารถในการสื่อสาร ความสามารถในการคิด ความสามารถในการแก้ปัญหา ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต แต่ละหัวข้อมีรายละเอียดที่ครูต้องทำความเข้าใจ และหากกิจกรรมบางกิจกรรม เด็กมี Feedback น้อย ครูต้องกลับมาทบทวนว่ากิจกรรมนั้นเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่ อาจต้องมีปรับแก้จัดกิจกรรมใหม่
ผู้ปกครอง ประเมินลูกเพื่อสนับสนุนลูกให้รู้จักตัวตน (และผู้ปกครองก็ได้รู้จักลูกมากขึ้นด้วย)
ประเมินว่าลูกทำกิจกรรมนั้นๆ แล้วพัฒนาการแต่ละด้านของลูกเป็นอย่างไรบ้าง ทั้งพัฒนาการด้านร่างกาย พัฒนาการด้านจิตใจ พัฒนาการด้านอารมณ์-สังคม และพัฒนาการด้านสติปัญญา โดยโรงเรียนมีรายละเอียดที่พ่อแม่จะใช้สังเกตพฤติกรรมลูกในขณะทำกิจกรรมได้อย่างเป็นรูปธรรม พ่อแม่อาจใช้การพูดคุยกับลูกหลังทำกิจกรรมเพื่อประเมินด้วยก็ได้ โรงเรียนใช้แบบประเมินจาก Google Form
นักเรียน ประเมินเพื่อให้เด็กรู้จัก เข้าใจตนเอง
เป็นการประเมินในหัวข้อความเมตตาช่วยเหลือ การระมัดระวัง ความรับผิดชอบ การร่วมมือร่วมใจ โดยโรงเรียนส่งรูปภาพเข้าไปใน Line กลุ่มผู้ปกครอง พ่อแม่อ่านให้ลูกฟัง อธิบาย แล้วให้เด็กเลือกประเมินว่ากิจกรรมที่ทำไปเด็กมีการพัฒนาเรื่องดังกล่าวแค่ไหน
อย่างไรก็ตาม การประเมินนี้จะต้องยืดหยุ่นตามสถานการณ์ เด็กอาจทำได้ไม่เท่าที่ประเมินได้ที่โรงเรียน หรือประเมินได้ทุกครั้งที่เด็กทำกิจกรรม ก็ให้เป็นการประเมินภาพรวม ก็จะสามารถวัดการเรียนรู้และการพัฒนาของเด็กได้เช่นกัน ข้อดีที่มากกว่านั้น การประเมินลูกยังทำให้คุณพ่อคุณแม่ได้สังเกตลูกอย่างใกล้ชิดและรู้จักลูกมากขึ้น และอาจได้เห็นลูกในแง่มุมที่ไม่เคยเห็นมาก่อนก็เป็นได้
ติดพลังเทอร์โบให้ครูสู้สถานการณ์โควิด
ในสถานการณ์โควิดที่เด็กๆ ย้ายฐานการเรียนรู้ไปเรียนที่บ้าน หลายคนอาจคิดว่าคุณครูคงสบายตัวสบายใจเพราะไม่ต้องสอนหน้าชั้นแต่ผู้บริหารโรงเรียนทั้งโรงเรียนทับทองและโรงเรียนนานาชาติฮัมมิ่งเบิร์ดซึ่งมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัด Home – Based Learning กับสถาบัน RLG ต่างยืนยันว่า ในสถานการณ์ขณะนี้ครูทำงานกันหนักมาก ครูก็เผชิญวิกฤตเช่นกัน ทั้งกังวลกับหน้าที่การงานที่ต้องปรับเปลี่ยนใหม่และการดำเนินชีวิตส่วนตัวท่ามกลางการระบาดอย่างหนักของโควิด
บทบาทหน้าที่ของครูขณะนี้ แม้ไม่ได้สอนเด็กๆ อยู่หน้าชั้น ครูก็ยังเป็นบุคคลสำคัญในการจัดการเรียนรู้ให้กับเด็กๆยิ่งกว่านั้นยังต้องคิดสร้างสรรค์ เตรียมการสอนมากขึ้น เรียนรู้อะไรใหม่ๆ มากกว่าเดิม ขวนขวายเรียนรู้ใช้เทคโนโลยีมาสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ให้เด็ก เช่น ทำคลิปวิดีโอ ทำสื่อการเรียนการสอนให้น่าสนใจ เป็นต้น ที่จะสามารถดึงดูดเด็กๆ ให้อยากมาเรียนรู้กับครูที่หน้าจอให้ได้ เพราะฉะนั้นโรงเรียนจึงต้องมีการสร้างขวัญ กำลังใจ และปลุกพลังสร้างสรรค์ในตัวครูให้มากขึ้นด้วย
ยกตัวอย่างโรงเรียนอนุบาลนานาชาติฮัมมิ่งเบิร์ด มีวิธีการหลากหลายวิธีด้วยกันที่จะเสริมพลังให้ครูนอกจากมีการพูดคุยกับครูเป็นรายบุคคลสำหรับครูที่มีความกังวลในเรื่องต่างๆ ให้ความช่วยเหลือครูแม้กระทั่งเรื่องส่วนตัว เพื่อช่วยให้ครูผ่อนคลาย เกิดความสบายใจแล้ว ยังมีกระบวนการเสริมพลังให้ครูดังนี้
- ประชุมครู ในสถานการณ์วิกฤต ผู้บริหารต้องสร้างความมั่นใจ ความสบายใจให้คุณครู อันดับแรกจึงนัดประชุมครู เพื่อบอกเล่าความเป็นไปที่เกิดขึ้นในสถานการณ์นี้ แนวทางที่โรงเรียนและครูจะต้องดำเนินต่อไปสอบถามสิ่งที่ครูกังวล
- ต่อจากนั้นทำการอบรมครู เรื่องการจัด Home – Based Learning เพื่อให้ครูได้ความรู้ความเข้าใจ นำไปปฏิบัติได้
- จัด PLC (Professional Learning Community) ทุกสัปดาห์ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้คำปรึกษา และให้ครูแต่ละห้องแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เทคนิค วิธีแก้ปัญหา เพื่อครูนำไปปรับใช้ หรือแก้ปัญหา
- จัดกิจกรรมปลุกพลังสร้างสรรค์ ทุกสัปดาห์โรงเรียนอนุบาลนานาชาติฮัมมิ่งเบิร์ด จะจัดกิจกรรมHummingbird Nest เป็นการเปิดโอกาสให้บุคลากรในโรงเรียนได้สอนกันเอง 1 ชั่วโมง โดยไม่จำกัดว่าทำหน้าที่อะไรหรือสอนอะไร แม้แต่ครูต่างชาติ เชฟ(พ่อครัว) เจ้าหน้าที่ธุรการ ให้โอกาสแต่ละคนได้แสดงศักยภาพ สิ่งที่ตัวเองทำได้ดี มีทักษะ หรือมีความรู้ แล้วอยากแบ่งปันกับเพื่อนๆ มีการนำเสนอไอเดียต่างๆ ซึ่งทำให้ได้เทคนิคในการสอนใหม่ๆ และน่าสนใจที่ครูจะหยิบไปใช้ได้เช่น ฝ่ายมาร์เก็ตติ้งถ่ายทำคลิปมาโชว์ การเล่านิทานด้วยเทคนิควิธีที่แปลกใหม่ เป็นต้น
กิจกรรมนี้จัดขึ้นเป็นประจำเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดี และให้เห็นว่าทุกคนมีความสำคัญ ทุกคนมีส่วนในการสร้างปฏิสัมพันธ์และพัฒนาเด็กๆ รวมทั้งทุกคนมีส่วนในการพัฒนาซึ่งกันและกัน นอกจากนั้นยังเป็นการฝึกทักษะสมอง EF และช่วยส่งเสริม Self ให้ครูด้วย ในช่วงที่โควิดระบาด การจัดกิจกรรมเปลี่ยนรูปแบบเป็นออนไลน์ ทำให้ทุกคนได้เจอกัน ได้พูดคุยกัน สร้างขวัญกำลังใจให้กันและกัน
ขอส่งพลังใจมาให้คุณครูทุกท่าน เราทุกคนจะผ่านพ้นวิกฤตไปด้วยกัน
เรียบเรียง : ผาณิต บุญมาก
บรรณาธิการ : ภาวนา อร่ามฤทธิ์
สถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป)